โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การก่อตั้งหน่วยงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ


ในการเริ่มก่อตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งกรรมการตามตำแหน่งราชการดังนี้

  • พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาท เป็นสภานายก
  • พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นอุปนายก

ส่วนกรรมการสภาฯ นั้นประกอบด้วย

  1. พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเพื่อช่วยดูแลเกี่ยวกับด้านการคมนาคมขนส่ง
  2. พระยาไชยยศสมบัติ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องการเพาะปลูกอันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจในขณะนั้น
  3. หม่อมเจ้าเณร รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อดูแลและจัดการด้านการเงินการคลังในการใช้จ่ายด้านการพัฒนาต่าง ๆ
  4. พระยาอินทรมนตรี อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาการตั้งและลดพิกัดอัตราภาษีอากรให้เหมาะสมกับการพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนจัดการด้านสถิติข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษีอากร
  5. พระยาสุพรรณสมบัติ ทำการแทนอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการค้าขาเข้าและการค้าขาออก
  6. นาย อาร์ ซี อาร์ วิลสัน เจ้ากรมทดน้ำ เพื่อดูแลและให้คำปรึกษาทั้งทางด้านการชลประทานและการขนส่งทางน้ำ

ทั้งนี้โดยมีที่ปรึกษาคือ นายวิลเลียมสัน ที่ปรึกษาราชการกระทรวงพระคลังฯ และนายเกรแฮม ที่ปรึกษาราชการกระทรวงเกษตรฯ

จะเห็นได้ว่ากรรมการของสภาเผยแผ่พาณิชย์นั้น ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลายฝ่าย โดยกรรมการล้วนมาจากหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสิ้น การตั้งคณะกรรมการในลักษณะเช่นนี้จึงมีความมุ่งหมายเพื่อให้มีการประชุมวางแผน และประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุดหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความมุ่งหมายดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากพระดำรัสของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้รั้งตำแหน่งนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์ ในการประชุมของสภาฯ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2469 ความว่า

"สภาฯ นี้มีคณะกรรมการคือ ผู้แทนของกรม กระทรวงต่าง ๆ ล้วนที่สำคัญเกี่ยวกับกิจการค้าขายของประเทศอยู่พร้อมเพรียง คือกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้แทนในการเพาะพืชผลของประเทศ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เป็นผู้แทนในทางบรรทุกส่งและสื่อสารและการหาตลาด และนอกจากนั้นการหาเงินทองที่จะทำให้แผนการเผยแผ่ความเจริญซึ่งรัฐบาลคิดไว้สำเร็จได้ผลดี ก็มีกระทรวงพระคลังฯ เป็นผู้แทน ข้าพเจ้ากล้าดำริและกล่าวได้ว่า สภาฯ นี้เป็นสภาที่มีคณะผู้แทนต่าง ๆ อยู่ครบบริบูรณ์ กับมีเครื่องมือพร้อมแล้วที่จะยังแผนทางการของรัฐบาลเพื่อบำรุงการค้าขายให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างดี"

  • การดำเนินงาน

เนื่องจากสภาเผยแผ่พาณิชย์นี้เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ระเบียบการบริหารจึงมีลักษณะเฉพาะโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่มีหน้าที่ประชุมปรึกษา และกำหนดแนวทางให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ อันได้แก่ส่วนของกรรมการสภาฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ทำงานประจำตามระเบียบบริหารราชการปกติ มีการแบ่งเป็นกรม กองและมีหัวหน้างานประจำเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ นับตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์เป็นต้นมานั้นได้มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติไว้มากมาย ซึ่งอาจสรุปผลงานที่สำคัญของสภาเผยแผ่พาณิชย์เป็นประเด็นหลักได้ดังนี้

1.ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการตลาดสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการผลิตมาก และมีการทำการค้าส่งออกก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศ ทั้งนี้โดยมีการรายงานและสรุปวิเคราะห์ทุก ๆ 3 เดือนเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปในเอกสารเผยแพร่คือ จดหมายเหตุของสภาเผยแผ่พาณิชย์

2.ทำการวิเคราะห์ตลาด ตลอดจนสำรวจอุปสรรคและปัญหาของสินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ข้าว ไม้สัก ดีบุก และอื่น ๆ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและหาแนวทางแก้ไข เช่นเมื่อมีการวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศพบว่า การที่ข้าวของไทยประสบปัญหาในการแข่งขันกับข้าวจากพม่า เวียตนาม และสหรัฐอเมริกานั้น มีสาเหตุมาจากการที่ประสิทธิภาพในการผลิตข้าวตกต่ำ และคุณภาพของข้าวเริ่มต่ำลง ก็ได้มีการเสนอแนะให้กระทรวงเกษตราธิการทำการจัดประกวดและค้นคว้าทดลอง ให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงออกเผยแพร่แก่เกษตรกรทั่วไป เป็นต้น

3.แสวงหาลู่ทางที่จะทำการผลิตสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาด และมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรภายในประเทศ ทั้งนี้ด้วยการทำการศึกษาถึงขั้นตอนในการทำการผลิต และเผยแพร่เพื่อชักจูงให้มีการดำเนินการผลิตขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญที่ได้มีการพยายามส่งเสริมตามหลักการดังกล่าวนี้ได้แก่ เยื่อกระดาษ น้ำตาล ปูนซิเมนต์ น้ำมันละหุ่งและน้ำมันพืชอื่น ๆ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล เป็นต้น

4.ดำเนินการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยได้มีการส่งคณะสำรวจออกเดินทางไปยังเขตต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อให้ได้ทราบอย่างชัดแจ้งว่ามีทรัพยากรธรรมชาติและพืชผลอย่างใดบ้าง ที่จะสามารถนำใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือขยายผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้

จากจุดมุ่งหมายและการดำเนินงานของสภาเผยแผ่พาณิชย์ดังที่ปรากฏนี้ จะเห็นได้ว่าสภาเผยแผ่พาณิชย์มีบทบาทสำคัญที่จะชักนำให้เศรษฐกิจของชาติเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เนื่องจากการดำเนินงานของสภาฯดังกล่าว เป็นลักษณะที่จะต้องหวังผลในระยะยาว ดังนั้นในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจการคลังอย่างหนัก เป้าหมายระยะสั้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยตัดลดรายจ่ายของรัฐบาลลงอย่างมากมาย จึงถูกเน้นความสำคัญจนบดบังเป้าหมายการเจริญเติบโตในระยะยาวไปเสียสิ้น อันเป็นเหตุให้สภาเผยแผ่พาณิชย์ถูกยุบเลิกไปในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

    หน้า 23   

    หน้า 25   

1