โรคตามระบบ
ระบบทางเดินอาหาร
26. ท้องเดิน(ท้องเสีย,ท้องร่วง)
27. อาหารเป็นพิษ
28. อหิวาต์
29. ไข้รากสาดน้อย
30. ตับอักเสบจากไวรัส
31. นิ่วในถุงน้ำดี
32. ตับแข็ง
33. มะเร็งตับ โรคพยาธิใบไม้ในตับ
34. โรคกระเพาะ
35.ไส้ติ่งอักเสบ
36. กระเพาะทะลุ
37. กระเพาะหรือลำใส้อุดตัน
38. ม้าม ตับ ไต ฉีกขาด เลือดตกใน
39. ไส้เลื่อน
40. ริดสีดวงทวาร
กลับสู่หน้าหลัก I
การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I
ระบบทางเดินหายใจ I
อุบัติเหตุ สารพิษ
ท้องเดิน
(Diarrhea/Gastroenteritis)
ท้องเดิน
(ท้องร่วง ท้องเสีย) หมายถึงภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว ในทารกที่กินนมแม่ ปกติอาจถ่ายอุจจาระเหลวๆ บ่อยครั้งได้ เราไม่ถือว่าเป็นอาการของท้องเดิน แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากและบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น ก็ถือว่าผิดปกติ ท้องเดินเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง ทำให้มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและคนแก่ นอกจากอาการถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกปนเลือดแล้ว อาจมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสุดแล้วแต่สาเหตุที่เป็น
สาเหตุ
ก. ถ้าเป็นท้องเดินชนิดเฉียบพลัน
อาจเกิดจาก
การติดเชื้อ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น อาจเกิดจากเชื้อไวรัส (รวมทั้งไข้หวัด หัด ไข้เลือดออก) บิด , ไทฟอยด์ , อหิวาต์ , มาลาเรีย , พยาธิบางชนิด(เช่น ไกอาร์เดีย , พยาธิแส้ม้า)
สารพิษจากเชื้อโรค โดยการกินพิษของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักจะพบว่า ในกลุ่มคนที่กินอาหาร ด้วยกัน มีอาการพร้อมกันหลายคน
สารเคมี เช่น ตะกั่ว ,สารหนู , ไนเทรต, ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มักจะทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องรุนแรงและชักร่วมด้วย
ยา เช่น ยาถ่าย , แอมพิซิลลิน , เตตราซัยคลีน พีเอเอส
พืชมีพิษ เช่น เห็ดพิษ , กลอย
ข. ถ้าเป็น เรื้อรัง
(ถ่ายนานเกิน 7 วัน หรือเป็นๆหายๆ บ่อย) อาจเกิดจาก
อารมณ์เครียด มักทำให้มีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นแรมเดือน แรมปี โดยที่ร่างกายแข็งแรงดี
การติดเชื้อเช่น บิดอะมีบา ,วัณโรคลำไส้ , พยาธิแส้ม้า
โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน , คอพอกเป็นพิษ
การขาดเอนไซม์แล็กเทส (lactase) ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ซึ่งมีอยู่ในนมสด จึงทำให้เกิดอาการท้องเดินหลังดื่มนม
ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมของลำไส้ (malabsorption) ทำให้ถ่ายบ่อย อุจจาระมีลักษณะเป็นมันลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด(เนื่องจากไขมันไม่ถูกดูดซึม) และอาจมีอาการของโรคขาดอาหารร่วมด้วย
เนื้องอก หรือมะเร็งลำไส้หรือตับอ่อน
ยา เช่น กินยาถ่ายหรือยาลดกรดเป็นประจำทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรังได้
อื่นๆ เช่นหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ทำให้การดูดซึมอาหารผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องเดินบ่อย หรือภายหลังการฝังแร่รักษามะเร็งปากมดลูก อาจทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ(colitis) ถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรังได้
อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อก ,ภาวะเลือดเป็นกรด ,ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ,ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นอันตรายถึงตายได้ ความรุนแรงของโรคนี้ขึ้นกับขนาดของภาวะขาดน้ำเป็นสำคัญ
ภาวะขาดน้ำ
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
ภาวะขาดน้ำเล็กน้อย
(mild dehydration) น้ำหนักตัวลดประมาณ 5% ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกกระหายน้ำและอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่อาการทั่วไปดี หน้าตาแจ่มใส เดินได้ชีพจร และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ภาวะขาดน้ำปานกลาง
(moderate dehydration) น้ำหนักตัวลดประมาณ 5 - 10 % ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมาก เดินแทบไม่ไหว แต่ยังนั่งได้ และยังรู้สึกตัวดี เริ่มมีอาการตาโบ๋ (ตาลึก) ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวและขาดความยืดหยุ่น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ในทารกนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ากระหม่อมบุ๋ม และท่าทางเซื่องซึม ไม่วิ่งเล่นเหมือนปกติ
ภาวะขาดน้ำรุนแรง
(severe dehydartion) น้ำหนักตัวลดมากกว่า 10 % ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก ลุกนั่งไม่ได้ ต้องนอน ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือช็อก (กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็นชืด ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำมาก ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย) และมีอาการตาโบ๋มาก ผิวหนังเหี่ยวมาก ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก หายใจเร็วและลึก ในทารกนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าหระหม่อมบุ๋มมาก แน่นิ่ง และตัวอ่อนปวกเปียก
การรักษา
ในที่นี้จะกล่าวถึง หลักการรักษาอาการท้องเดินโดยทั่วไป ส่วนการรักษาสาเหตุโดยเฉพาะ จะแยกกล่าวในบทที่ว่าด้วยโรคต่างๆอีกครั้งหนึ่ง
ควรงดอาหารแข็ง
อาหารรสจัด และอาหารที่มีกาก (เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวานแทน ในเด็กเล็ก ควรให้งดนมผสม สัก 2 - 4 ชั่วโมง แล้วค่อยเริ่มให้นมผสมตามเดิม ส่วนเด็กที่กินนมแม่ให้กินนมแม่ได้ตามปกติ
ให้น้ำเกลือ
ถ้าผู้ป่วยยังกินได้ ไม่อาเจียนหรืออาเจียน เพียงเล็กน้อย ให้ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม กับน้ำสุก ดื่มกินต่างน้ำบ่อยๆ ครั้งละ 0.5 - 1 ถ้วย หรือจะใช้น้ำเกลือผสมเอง ก็ได้ โดยใช้น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม (หรือขวดน้ำปลาใหญ่คือ ขนาดประมาณ 750 มล.) ผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (25 - 30 กรัม) และเกลือป่น 0.5 ช้อนชา (1.7 กรัม) หรือจะใช้น้ำอัดลมหรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ(ใส่เกลือ 0.5 ช้อนชาในน้ำข้าว 1 ขวดแม่โขง) ก็ได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเล็กน้อย แต่ยังพอดื่มน้ำเกลือหรือน้ำข้าวต้มได้ ให้คอยสังเกตว่าได้รับน้ำเข้าไปมากกว่าส่วนที่อาเจียนออกหรือไม่ ถ้าอาเจียนออกมามากกว่าส่วนที่ดื่มเข้าไป ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแทน ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก หรือกินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ก็ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
ผู้ใหญ่
ให้น้ำเกลือชนิด 5 % D/NSS) หรือ นอร์มัลซาไลน์ (NSS) 1,000 - 2,000 มล. ใน 12 - 24 ชั่วโมง ควรให้น้ำเกลือหยดเร็วๆ จนกระทั่งชีพจรเต้นช้าลงและแรงขึ้น ความดันกลับคืนเป็นปกติ จึงค่อยหยดช้าลง
เด็ก
ให้น้ำเกลือชนิด 5 % เดกซ์โทรส ใน 1/3 นอร์มัลลซาไลน์ (5% D/1/3 NSS) ขนาด 100 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใน 24 ชั่วโมง ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงในระยะ 1 - 2 ชั่วโมงแรก ให้ขนาด 20 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใน 1 ชั่วโมง ขณะให้น้ำเกลือควรเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องฟังตรวจฟังปอดบ่อยๆ ถ้ามีอาการหน้าบวม หอบ ตัวเขียว หรือฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (capitation) แสดงว่าให้น้ำเกลือเร็วหรือมากเกินไป ควรหยุดน้ำเกลือและฉีดลาซิกส์ 0.5 - 1 หลอด เข้าเสันเลือด ถ้าไม่ดีขึ้น ให้รีบส่งโรงพยาบาล ในกรณีที่ไม่สามารถให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ(อาจเป็นเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือแทงเส้นเลือดไม่เข้า) ถ้าจำเป็นต้องให้น้ำเกลือ อาจให้โดยป้อนทางสายสวนกระเพาะอาหาร (ควรฝึกจากแพทย์จนชำนาญเสียก่อน)
ยาแก้ท้องเดิน
ควรให้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าใช้ผิดๆ อาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ต้องให้ก็ได้ ขอให้ผู้ป่วยได้รับน้ำเกลือดังในข้อ 2 ให้ได้เพียงพอ อาการท้องเดินก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องให้ยาแก้ท้องเดิน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำดังต่อไปนี้
ผู้ใหญ่
ให้ยาน้ำเคาลิน ,ยาน้ำเคาเพกเทต หรือยาธาตุน้ำขาว (บิสมัทโซดา) ครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ ซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดบิดในท้องมากเป็นพักๆ โดยไม่มีอาการไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ไห้ ยาน้ำเคาลินเอตเบล 1 - 2 ช้อนโต๊ะ หรือ โลโมทิล 1 - 2 เม็ดซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง แต่ถ้ามีไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือดหรือสงสัยเป็นบิด ไม่ควรให้ยาเหล่านี้ เพราะอาจทำให้โรคหายช้าหรือมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้ามีอาการอาเจียนรุนแรง หรือปวดบิดในท้องรุนแรงให้ฉีดยาเอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรฟีน 0.5 - 1 หลอด ถ้ามีไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่ควรฉีดยาแอนติสปาสโมดิก
เด็กเล็ก
ให้ยาน้ำเคาลิน หรือยาน้ำเคาเพกเทต ครั้งละ 0.5 - 1 ช้อนโต๊ะซ้ำได้ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้ท้องเดินชนิดอื่นๆไม่แนะนำให้ใช้
ยาปฏิชีวนะ
ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้ ควรให้เฉพาะรายที่สงสัยเป็นบิด ,อหิวาต์ หรือไทฟอยด์เท่านั้น (ขอให้ดูเพิ่มในบที่ว่าด้วยโรคเหล่านี้)
ถ้าทราบสาเหตุของท้องเดิน ให้รักษาตามสาเหตุ
ควรติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ถ้าถ่ายรุนแรง อาเจียนรุนแรง มีภาวะขาดน้ำมากขึ้น มีภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือช็อก อย่างหนึ่งอย่างใด ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด(ดังในข้อ 2 )มาระหว่างทางด้วย
อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น
ได้แก่
ถ่ายและอาเจียนน้อยลง
ภาวะขาดน้ำลดน้อยลง
ปัสสาวะออกมากขึ้น
น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
หน้าตาแจ่มใส ลุกนั่งหรือเดินได้ เด็กเล็กเริ่มวิ่งเล่นได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง
ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ควรแนะนำไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาล ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้อาจให้การรักษาตามอาการ
ข้อแนะนำ
โรคนี้ ถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่ อาจมีอันตรายถึงตายได้ ถ้าให้การรักษาขั้นต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
อันตรายที่เกิดจากโรคนี้ คือ การเสียน้ำและเกลือแร่ จึงควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปรู้จักใช้ "ผงน้ำตาลเกลือแร่" หรือ น้ำเกลือผสมเอง หรือ น้ำข้าวต้มใส่เกลือ ดื่มกิน ทันทีที่มีอาการท้องเดิน จะช่วยป้องกันมิให้อาการรุนแรงได้ สิ่งนี้มีประโยชน์ยิ่งกว่า ยาแก้ท้องเสียอีก
ในเด็กเล็กอาการท้องเดินมีความสัมพันธ์กับโรคขาดอาการอย่างมาก กล่าวคือ ท้องเดินบ่อยอาจทำให้ขาดอาหาร และโรคขาดอาหาร อาจทำให้ท้องเดินบ่อย จึงควรรักษาทั้ง 2 โลกนี้อย่างจริงจัง
ควรอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงสาเหตุของโรคท้องเดินในเด็กเล็กว่า ไม่ได้เกี่ยวกับการยืดตัวของเด็กดังที่เข้าใจกันทั่วไป แต่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันได้
การป้องกัน
กินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด
ล้างมือก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระ
ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
สำหรับทารก
ควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่
ถ้าใช้ขวดนมเลี้ยงทารก ควรต้มขวดในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน
ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค และให้อาหารเสริมแก่ทารก เพื่อสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคขาดอาหาร
อันตรายจากโรคท้องเดิน คือการเสียน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือทันทีตั้งแต่เริ่มมีอาการ
กลับสู่หน้าแรก
อาหารเป็นพิษ
(Food poisoning)
อาหารเป็นพิษ
หมายถึงอาการท้องเดิน เนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน อาจเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรค หรือสารเคมี (เช่น ตะกั่ว ยาฆ่าแมลง) หรือ พืชพิษ(เช่น เห็ดพิษ กลอย) โดยทั่วไปเรามักหมายถึงอาการท้องเดินที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อโรค เพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่นๆ มักพบว่าในหมู่คนที่กินอาการร่วมกัน จะมีอาการพร้อมกันหลายคน ซึ่งอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แล้วแต่บุคคลและปริมาณที่กิน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ บ่อยครั้ง ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้มีภาวะขาดน้ำเป็นอันตรายได้ ถ้าเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด อาจทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ รูม่านตาหดเล็ก เป็นต้น อาจร้ายแรงถึงตายได้
การรักษา
ให้การรักษาแบบอาการ ท้องเดินทั่วๆไป คือให้น้ำเกลือ ,ยาแก้ท้องเดิน ,ยาแก้อาเจียน ในรายที่ปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้องรุนแรง ให้ฉีด อะโทรฟีน ยกเวันในรายที่มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
ถ้ามีอาการทางระบบประสาท (เช่น ชัก หมดสติ)หรือสงสัยเกิดจากยาฆ่าแมลง หรือสารตะกั่ว สารเคมีอื่นๆ ควรให้น้ำเกลือ แล้วรีบส่งโรงพยาบาลด่วน มักจะต้องทำการล้างท้องและให้ยาต้านพิษ
ถ้าเกิดจากเห็ดพิษ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ทำให้เกิดอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรง ก็ให้การรักษาดังในข้อ 1 แต่ถ้ามีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ให้ฉีดอะโทรฟีน และให้น้ำเกลือ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน ในที่นี้จะกล่าวถึงอาหารเป็นพิษ เนื่องจากสารพิษจากเชื้อโรคต่างๆ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส
สแตฟฟีโลค็อกคัสออเรียส
(staphylococcusaureus) เป็นแบคทีเรียตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดหนองฝีตามผิวหนังอาจพบปนเปื้อนอยู่กับอาหาร เช่น พวกสลัด ขนมจีน ลาดหน้า น้ำปลาหวาน ซุป อาหารประเภทเนื้อ ฯลฯ เชื้อชนิดนี้จะปล่อยพิษ (toxin) ออกมาซึ่งไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน เมื่อคนเรากินอาหารนี้ (ไม่ว่าจะต้มสุกหรือไม่ก็ตาม)เข้าไป หลังจากนั้นอีก 2 - 4 ชั่วโมง ก็เกิดอาการบางครั้งอาจพบเป็นพร้อมๆกันหลายคน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป
อาการ
เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการคลื่นใส้ อาเจียน ปวดบิดในท้องเป็นพักๆ และถ่ายเป็นน้ำ ส่วนมากจะไม่มีอาการไข้ อาการจะค่อยๆ หายเอง ภายใน 1 - 2 วัน โรคนี้ชาวบ้านเรียกว่า " โรคลมป่วง " มักจะรักษากันเองถ้าเป็นไม่มากก็หายเองได้
การรักษา
ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้ยาแก้ท้องเดิน เช่น ยาน้ำเคาลิน หรือยาธาตุน้ำขาว (บิสมัทโซดา) กิน 1 - 2 ช้อนโต๊ะ (เด็ก 1 - 2 ช้อนชา) ทุก 4 - 6 ชั่วโมง และปฏิบัติตัวดังการรักษาอาการท้องเดินทั่วไปก็หายเองได้
ถ้าอาการรุนแรง ให้ยาแก้ท้องเดินดังกล่าว ถ้าขาดน้ำให้น้ำเกลือ แล้วควรส่งอุจจาระตรวจหาเชื้อ อาจมีสาเหตุจากเชื้อชนิดอื่นได้
ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะเกิดจากพิษของเชื้อโรคไม่ใช่ตัวเชื้อ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส
สเตรปโตค็อกคัส
(streptococcus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองฝี ได้เช่นเดียวกับเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัสพบมากในอาหารพวกเนื้อ,เป็ด,ไก่,ปู ฯลฯ เชื้อจะปล่อยพิษปนกับอาหาร เมื่อคนกินเข้าไป หลังจากนั้นอีก 4 - 12 ชั่วโมง ก็ทำให้เกิดอาการ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน
อาการ
คล้ายอาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส แต่จะมีไข้สูง หนวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย มักหายได้เองภายใน 1 - 2 วัน
การรักษา
ให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับอาหารเป็นพิษจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส ร่วมกับให้ยาลดไข้
ข้อแนะนำ
อาการถ่ายเป็นน้ำร่วมกับมีไข้สูงที่เกิดขึ้นทันทีทันใดนอกจากเชื้อ สเตรปโตค็อกคัสแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากเชื้อ ซัลโมเนลลา,บิดซิเกลลา ในระยะเริ่มแรก และเชื้อวิบริโอ ฮีโมไลติคัส(Vibrio hemolyticus) ได้ วิบริโอฮีโมไลติคัส เป็นเชื้อแบคทีเรีย พบในอาหารทะเล ทำให้มีอาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำรุนแรงคล้าย อหิวาต์ได้ การรักษา นอกจากให้ยาแก้ท้องเดิน น้ำเกลือ(ในรายที่เป็นรุนแรง) แล้วควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราซัยคลีน ,คลอแรมเฟนิคอล หรือ โคไตรม็อกซาโซล ร่วมด้วย
อาหารเป็นพิษจากเชื้อซัลโมเนลลา
เชื้อซัลโมเนลลา
(Salmonella) เป็นตระกูลเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์ แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการทั่วร่างกายแบบไทฟอยด์ มักเกิดหลังจากกินพิษของมันซึ่งปนอยู่ในอาหารเข้าไป 8 - 48 ชั่วโมง
อาการ
มีไข้หนาวสั่น ปวดบิดในท้อง ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย บางครั้งมีมูกเลือดปน อาการจะค่อยๆหายไปภายใน 2 - 5 วัน บางคนอาจเรื้อรังถึง 10 - 14 วัน
การรักษา
ให้การรักษาแบบเดียวกับอาหารเป็นพิษจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่เพียงแต่ไม่ทำให้อาการท้องร่วงหายเร็วขึ้นเท่านั้น ยังอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้นและกระจายเข้าสู่โลหิตไปทั่วร่างกายได้
ข้อแนะนำ
ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการไข้ร่วมกับท้องเดินไม่มาก แต่เป็นเรื้อรังมากกว่าสัปดาห์ ถ้าคลำไต้ตับม้ามโต ควรนึกถึงไข้มาลาเรีย และไข้ไทฟอยด์ ด้วย
อาหารเป็นพิษจากเชื้อคลอสติเดียม
คลอสติเดียม
(Clostidium botulinum) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบในอาหารกระป๋อง และอาหารหมักดองเชื้อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เกิดอาการหลังกินพิษเข้าไป 8 - 36 ชั่วโมง เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก
อาการ
มีอาการคลื่นใส้ อาเจียน วิงเวียน ปากแห้ง คอแห้งเจ็บในลำคอ ปวดบิดในท้อง ท้องเดิน ในรายที่เป็นมาก พิษของมันจะทำลายระบบประสาททำให้ตาเห็นสองภาพ กลืนน้ำลายไม่ได้ น้ำลายฟูมปาก พูดอ้อแอ้ อ่อนแรง และหายใจไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต และอาจตายภายใน 24 ชั่วโมง
การรักษา
หากสงสัย ควรรีบส่งโรงพยาบาล ถ้าฉีดเซรุ่มแก้พิษได้ทัน ก็จะช่วยให้รอดได้
ข้อแนะนำ
เพื่อป้องกันมิให้กินถูกพิษของคลอสติดียม เวลากินอาหารกระป๋อง ควรปฏิบัติดังนี้
ตรวจดูสภาพภายนอก เช่น วันเดือนปีที่ผลิตว่าเก็บไว้นานเกินไปหรือไม่ กระป๋องบุบบู้บี้หรือมีสนิมหรือเอามือกดฝากระป๋องแล้วยุบก็ไม่ควรซื้อ
ถ้าเปิดกระป๋องแล้วมีกลิ่นเหม็น ก็ไม่ควรกิน
ควรต้มให้เดือดนานประมาณ 10 นาที
กลับสู่หน้าแรก
อหิวาต์
(choklera)
อหิวาต์
(อหิวาตกโรค) เป็นโรคท้องร่วงร้ายแรง และระบาดได้รวดเร็ว ในสมัยก่อนพบว่าการระบาดแต่ละครั้งมีคนตายเป็นร้อยเป็นพัน จึงมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่โบราณกาลว่า " โรคห่า " ในปัจจุบันโรคนี้ได้ลดความรุนแรงลง และพบระบาดน้อยลง โรคนี้มักพบในช่วงฤดูร้อน และพบในหมู่คนที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี
สาเหตุ
เกิดจากการกินเชื้อหิวาต์ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และน้ำเข้าไป เชื้อมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดร้ายแรง ได้แก่ วิบริโอ คอเลอรา (vibrio cholerae) กับ ชนิดอ่อน ได้แก่ เอลเทอร์ (EL Tor) เชื้ออหิวาต์จะปล่อยสารพิษ (toxin) ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ระยะฟักตัว 24 ชั่วโมง - 5 วัน(เฉลี่ยประมาณ 1 - 2 วัน)
อาการ
เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่งโดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาเจียนโดยที่ไม่มีการคลื่นไส้นำมาก่อน อุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการขาดน้ำรุนแรง และช็อกอย่างรวดเร็ว จะมีเสียงแหบแห้ง เป็นตระคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ ไม่มีไข้ ถ้าหากรักษาไม่ทัน อาจตายได้ในเวลาสั้นๆ ในรายที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์อย่างอ่อน หรือเชื้อ เอลเทอร์ (EL Tor) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายโรคท้องเดินอื่นๆ มักจะหายได้เองใน 1 - 5 วัน
การรักษา
ถ้ามีอาการท้องร่วงรุนแรง ซึ่งชวนสงสัยว่าเป็นอหิวาต์ ควรเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้กินเตตราซัยคลีน 2 แค็ปซูล แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน ควรทำการเพาะเชื้อจากอุจจาระ ให้น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ (NSS) กับ M/6 Sodium lactate (โซเดียมแล็กเทต) ในอัตรา 3 ต่อ 1 หรือ 2 ต่อ 1 และให้โฟแทสเซียมคลอไรด์ทางหลอดเลือดดำ ส่วนยาปฏิชีวนะให้เตตราซัยคลีนครั้งละ 2 แค็ปซูล ทุก 6 ชั่วโมง นาน 3 - 5 วัน ผลการรักษา ถ้ารักษาได้ทันการณ์ มักจะหายขาดภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างไร อันตรายมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าเกินการณ์คือปล่อยให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรง
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงรุนแรง ควรเก็บอุจจาระส่งเพาะหาเชื้อทุกราย ถ้าพบว่าเกิดจากอหิวาต์ควรรายงานต่อหน่วยงานที่ควบคุมโรคนี้ เพื่อจะได้ดำเนินการควบคุมมิให้โรคระบาด
การป้องกัน
อาจกระทำโดย
ให้สุขศึกษาและรณรงค์ให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก กินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอมและฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์
สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ควรนำอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วยไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด อย่าเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อควรนำฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง
เก็บอุจจาระของคนที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อและให้ผู้สัมผัสโรค กินเตตราซัยคลีน 2 แค็ปซูล เป็นการป้องกัน
ผู้ป่วยอุจจาระร่วงรุนแรง ควรเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อทุกราย
กลับสู่หน้าแรก
ไข้รากสาดน้อย/ไทฟอยด์
(Typhoi fever/Enteric fever)
ไข้รากสาดน้อย
พบได้บ่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า ไข้หัวโกร๋น เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษา เป็นไข้กันเป็นเดือนจนกระทั่งผมร่วง เป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการไข้นานเกิน 7 วัน จะมีอาการคล้ายมาลาเรียมาก ถ้ามีไข้สูงเรื้อรัง ไม่มีประวัติเข้าไปในดงมาลาเรีย หรือให้ยารักษามาลาเรียแล้วไม่ดีขึ้น ก็ให้นึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ พบได้ในทุกอายุ แต่จะพบมากในคนอายุ 10 - 30 ปี อาจจะพบว่ามีคนในละแวกใกล้เคียงเคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคนี้ด้วย พบมากในฤดูร้อน แต่ก็พบได้เกือบทั้งปี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ เป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลาไทฟี (Salmonella typhi) ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ติดเชื้อจากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยหรือที่มีแมลงวันตอม ระยะฟักตัว ประมาณ 14 วัน (7 - 21 วัน)
อาการ
อาการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแรกจะมีอาการไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออกบางครั้งมีอาการไอและเจ็บคอเล็กน้อย มักมีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ถ่ายเหลวเสมอ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดแน่นท้อง ท้องอืดและกดเจ็บเล็กน้อย ต่อมาไข้จะค่อยๆสูงขึ้นทุกวันและจับไข้ตลอดเวลาถึงแม้จะกินยาลดไข้ก็อาจไม่ลด ทุกครั้งที่จับไข้จะรู้สึกปวดศีรษะมาก อาการไข้มักจะเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีไข้สูงอยู่นาน 3 สัปดาห์ แล้วค่อยๆลดลงจนเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นไข้ อยู่นาน 6 สัปดาห์ก็ได้ บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพักๆ เพ้อหรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ผู้ป่วยจะซึมและเบื่ออาหารมาก ถ้ามีอาการมากกว่า 5 วันผู้ป่วยจะดู หน้าซีดเซียว แต่เปลือกตาไม่ซีด (เหมือนอย่างผู้ป่วยโลหิตจาง)ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ที่เรียกว่า หน้าไทฟอยด์
สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้ 38.5 - 40 องศาเซลเซียส หน้าซีดเซียวและเปลือกตาไม่ซีด ฝ่ามือซีด ริมฝีปากแห้ง อาจมีอาการท้องอืด กดเจ็บใต้ชายโครงขวาหรือท้องน้อยข้างขวา ตับม้ามอาจโต อาจพบจุดแดงคล้ายยุงกัด เมื่อดึงหนังให้ตึงจะจางหายเรียกว่า โรสสปอต (Rose spots) ที่หน้าอกหรือหน้าท้องซึ่งมักจะขึ้นหลังมีไข้ได้ 5 วัน และขึ้นอยู่นาน 3 - 4 วัน ในบางรายอาจมีอาการดีซ่าน หรือซีด(ถ้าเป็นเรื้อรัง)
อาการแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยและเป็นอันตราย ได้แก่ เลือดออกในไส้(ถ่ายเป็นเลือดสดๆ อาจถึงช็อกได้) และลำไส้ทะลุ(ท้องอืด ท้องแข็ง) ซึ่งจะพบหลังมีอาการได้ 2 - 3 สัปดาห์ ที่พบรองลงไปได้แก่ ปอดอักเสบ ,โลหิตเป็นพิษ,กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, โรคจิต ,ถุงน้ำดีอักเสบ,ไตอักเสบ,เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การกลับเป็นซ้ำ บางรายแม้ว่าจะรักษาจนไข้หายแล้ว อาจมีไข้กำเริบได้ใหม่ หลังจากหยุดยาไปประมาณ 2 สัปดาห์
การรักษา
แนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน,ดื่มน้ำมากๆใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ,ถ้ากินข้าวไม่ได้นานๆให้ยาบำรุงพวกวิตามิน การให้ยาลดไข้ อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ จึงควงรระวังหากไม่จำเป็นใช้วิธีเช็ดตัวดีกว่า
ให้ยาปฏิชีวนะ คลอแรมเฟนิคอล วันละ 2 กรัม (ในเด็กให้ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน) แบ่งให้วันละ 4 เวลา หรือให้ โคไตรม็อกซาโซล ครั้งละ 2 เม็ด (เด็ก 0.5 - 1 เม็ด)วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือแอมพิซิลลิน วันละ 4 กรัม(ในเด็กให้ 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน) แบ่งให้ 4 เวลา ถ้าดีขึ้น(กินข้าวได้มากขึ้น ไข้ลด)ให้ยาต่อจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นใน 4 - 7 วันหรือในรายที่สงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อนควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการตรวจโดยการเจาะเลือด ทำการทดสอบไวดาล (Widal teat) ตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (มักต่ำกว่า 5, ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ,นำเลือด อุจจราระ และปัสสาวะไปเพาะเชื้อ แล้วให้ยาปฏิชีวนะตัวที่สามารถฆ่าเชื้อได้โดยเฉพาะ
อาการแทรกซ้อน
โรคนี้ต้องใช้เวลารักษาติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์เมื่อได้รับการรักษา ไข้จะค่อยๆลดลง จนกระทั่ง 4 วันไปแล้วจึงจะไม่มีไข้ ถ้าให้คลอแรมเฟนิคอล อาจใช้เวลาอย่างน้อย 4 วัน กว่าไข้จะลดเป็นปกติ ถ้าให้โคไตรม็อกซาโซล อาจใช้เวลา 6 - 10 วันกว่าไข้จะลด ส่วนแอมพิซิลลิน อาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 วัน
ผู้ป่วยบางรายเมื่อไข้หายเป็นปกติแล้ว อาจมีอาการกำเริบได้ใหม่ ภายหลังการหยุดยาไปแล้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ควรให้ยารักษาซ้ำอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์
ผู้ป่วยบางรายเมื่อหายแล้ว อาจมีเชื้อไทฟอยด์หลบซ่อนอยู่ในถุงน้ำดีโดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไรเราเรียกว่า ผู้เป็นพาหะนำโรค (carrier) ซึ่งมักจะปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระ แพร่กระจายให้คนอื่นต่อไปเรื่อยๆ แพทย์สามารถตรวจพบโดยการเอาอุจจาระไปเพาะเชื้อและอาจให้การรักษาโดยให้แอมพิซิลลิน นาน 6 สัปดาห์ บางรายอาจต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก
ผู้ป่วยบางรายอาจดื้อยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะคลอแรมเฟนิคอล ดังนั้นถ้าหากให้ยา 4 - 7 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรแนะนำไปตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล
โรคนี้ทำให้เป็นไข้เรื้อรัประมาณ 4 สัปดาห์(ถ้าไม่ได้รับการรักษา) และบางครั้งอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ ชัดเจนยกเว้นอาการไข้สูง ดังนั้นถ้าพบคนที่เป็นไข้นานมากกว่า 7 วัน โดยไม่มีสาเหตุชัดเจนก็อาจให้การรักษาแบบไข้ไทฟอยด์ไปก่อน แต่ถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้นใน 4 วัน หรือมีไข้นานเป็นเดือนขึ้นไป ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ควรแนะนำไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
การป้องกัน
ฉีดวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 3 ปี
กินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด
ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
ล้างมือก่อนปรุงอาหารและเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
สำหรับผู้ป่วย ควรแยกสำรับอาหารและเครื่องใช้ส่วนต้ว อย่าปะปนกับผู้อื่น อุจจาระควรถ่ายลงในส้วม และควรล้างมือให้สะอาดหลังถ่าย
ถ้าเป็นไข้รากสาดน้อยควรให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 14 วัน
กลับสู่หน้าแรก
ตับอักเสบจากไวรัส
(Viral hepatitis)
ตับอักเสบจากไวรัส
(ไวรัสลงตับ ก็เรียก) หมายถึงการอักเสบของเนื้อตับ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส พบเป็นสาเหตุอันดับแรกสุดของอาการดีซ่าน(ตัวเหลืองตาเหลือง) ที่เกิดขึ้น ในเด็กโตและผู้ใหญ่ จนเป็นที่เข้าใจกันว่า โรคดีซ่าน ก็คือ ตับอักเสบจากไวรัส โรคนี้พบได้ในคนทุกอายุ แต่พบมากในเด็ก และคนหนุ่มสาว บางครั้งอาจพบระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน กองทหาร เป็นต้น
สาเหตุ
ในปัจจุบันพบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิดได้แก่
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ
(Hepatitis A virus) ซึ่งทำให้เกิด
โรคตับอักเสบชนิดเอ
(Hepatitis A) หรือเดิมเรียกว่า Infactious hepatitis สามารถติดต่อโดยทาง ระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือโดยการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่เปื้อนอุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ เช่นเดียวกับ โรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์ ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายโรคได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา ซึ่งการสุขาบาลสิ่งแวดล้อม(เรื่องส้วม และน้ำดื่ม)ยังไม่ดี บางครั้งอาจพบเป็นโรคระบาดได้ จึงพบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ ระยะฟักตัวของตับอักเสบชนิดเอ 15 - 45 วัน(เฉลี่ย 30 วัน)ซึ่งนับว่าสั้นกว่าชนิดบี
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
(Hepatitis B virus) ซึ่งทำให้เกิด
โรคตับอักเสบชนิดบี
(Hepatitis B) หรือเดิมเรียกว่า Serum hepatitis เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ เชื้ออสุจิ เป็นต้น เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยทางบาดแผล เพศสัมพันธุ์ การสัมผัสอย่างใกล้ชิดในครอบครัวเดียวกันหรือถ่ายทอดจากแม่ไปยังทารกขณะคลอดหรือหลังคลอดใหม่ๆ (ทำให้ทารกมีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถแพร่ให้คนอื่นได้) นอกจากนี้ โรคนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อไว้รัสชนิดนี้ เป็นต้น ระยะฟักตัว ของตับอักเสบชนิด บี 30 - 180 วัน(เฉลี่ย 60 - 90 วัน) นอกจากไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้แล้วยังไมีไวรัส ชนิดอื่นๆรวมเรียกว่าไวรัสชนิดไม่ใช่ทั้งเอและบี ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดไม่ใช่ทั้งเอและบี (non - A , non - B hepatitis) สามารถติดต่อโดยทางเลือดและการสัมผัสใกล้ชิด เช่นเดียวกับชนิดบี และโดยอาหารการกินเช่นเดียวกับเอ ระยะฟักตัว 15 - 160 วัน(เฉลี่ย 50 วัน)
อาการ
ตับอักเสบจากไวรัสทุกชนิด มักจะมีอาการแสดงคล้ายๆกัน(จะแยกกันได้แน่ชัด ก็โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด)
ระยะนำ
ผู้ป่วยมักมีอาการอื่นๆนำมาก่อนจะมีอาการตาเหลือง ประมาณ 2 - 14 วัน ด้วยอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อิดโรย คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นไข้ (ประมาณ 38 - 39 องศาเซลเซียส) บางคนอาจมีอาการปากคอจืด และเหม็นเบื่อบุหรี่อย่างมาก บางคนอาจมีอาการปวดเสียดหรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครงขวา บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือท้องเดิน หรือมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการปวดตามข้อ มีลมพิษ ผื่นขึ้น ก่อนมีอาการตาเหลือง 1 - 5 วัน ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น และอุจจาระสีซีดกว่าปกติ ระยะนี้มักพบว่าตับโตและเคาะเจ็บ
ระยะตาเหลือง
เมื่อมีอาการตาเหลือง อาการต่างๆจะเริ่มทุเลา และไข้จะลดลงทันที (หากยังมีไข้ร่วมกับตาเหลืองอีกหลายวัน ควรนึกถึงสาเหตุอื่น ) ตาจะเหลืองเข้มมากที่สุดในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 แล้วจะค่อยๆจางหายไปใน 2 - 4 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการตาเหลืองอยู่ประมาณ 3 - 5 สัปดาห์ และน้ำหนักตัวอาจลดไป 2 - 3 กิโลกรัม ในขณะที่ตาเหลืองเริ่มจางลง ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอุจจาระกลับมีสีเข้มเหมือนปกติ และปัสสาวะสีค่อยๆจางลง ระยะนี้ตับยังโตและเจ็บ แต่จะค่อยๆลดน้อยลงต่อมน้ำเหลืองที่หลังคอและม้ามอาจโตได้
ระยะฟื้นตัว
หลังจากหายตาเหลืองแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ตับจะยังโตและเจ็บเล็กน้อย กินเวลาประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะหายสนิทภายใน 3 - 4 เดือนหลังมีอาการแสดงของโรค ผู้ป่วยบางคนไม่แสดงอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) ให้เห็น หรือคลำตับไม่ได้ มีเพียงอาการอ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปวดเสียดชายโครงขวา ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากมักจะหายเป็นปกติ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นตับอักเสบชนิด เอ ส่วนน้อยเท่านั่นที่อาจมีอาการแทรกซ้อน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีมากกว่าชนิดอื่นๆ และมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่นๆ (เช่น หัวใจวาย เบาหวาน มะเร็ง โลหิตจางรุนแรง เป็นต้น) อยู่ก่อน โรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว (ซึ่งพบได้น้อยมาก) ได้แก่ " ตับอักเสบชนิดร้ายแรง " (fulminnant hepatitis) ซึ่งเซลล์ของตับถูกทำลาย จนเนื้อตับเสียเกือบทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองจัด บวม และหมดสติ ประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิด บี อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง(chronic hepatitis) ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลียและตาเหลืองอยู่นานกว่า 6 เดือน ถ้าเป็นชนิดคงที่(chronic persustent hepatitis) อาการจะไม่รุนแรงและมักจะหายได้ปกติ ภายใน 1 - 2 ปี แต่ถ้าเป็นชนิดลุกลาม (chronic active hepatitis) ก็อาจกลายเป็นโรคตับแข็งได้ แพทย์สามารถแยกชนิดคงที่ออกจากชนิดลุกลามได้ด้วยการเจาะเอาเนื้อตับพิสูจน์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบีแบบเรื้อรัง อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้
การรักษา
ถ้าพบในเด็กหรือคนหนุ่มสาว ซึ่งอาการโดยทั่วไปดี กินข้าวได้ ไม่ปวดท้องหรืออาเจียนมาก ควรให้ การรักษาตามอาการ ดังนี้
พักผ่อนอย่างเต็มที่ ห้ามทำงานหนัก จนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย และให้ดื่มน้ำมากๆ
กินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลให้มากขึ้น เช่น ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคสบ่อยๆ(ถ้ากินไม่ได้ หรืออาเจียนมาก อาจต้องฉีดกลูโคสหรือน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ) และกินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มากๆ ส่วนอาหารมันให้กินได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่กินแล้วคลื่นไส้อาเจียนให้งด
ยาไม่จำเป็นต้องให้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะแต่อย่างใด(ในรายที่เบื่ออาหาร) อาจพิจารณาให้กิน วิตามินรวม หรือวิตามินบีรวม วันละ 2 - 3 เม็ด)
ถ้าอาการตาเหลืองไม่จางลงใน 2 สัปดาห์ หรือมีไข้สูง อ่อนเพลียมากน้ำหนักลดมาก ปวดท้องมาก หรืออาเจียนมาก หรือพบในคนสูงอายุ ควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาล อาจต้องทำการเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับ (Liver function test) ซึ่งจะพบว่ามีระดับเอนไซม์ เอสจีโอที (SGOT) และ เอสจีพีที (SGPT) สูงกว่าปกติเป็นสิบๆเท่า (ปกติมีค่าไม่เกิน 40 หน่วย) ตลอดจนระดับบิลิรูบิน (Bilirubin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ตัวเหลืองตาเหลือง) สูง นอกจากนี้ ยังอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค (ว่าเป็นตับอักเสบชนิดเอ หรือบี หรือชนิดอื่น) ส่วนการรักษาก็ให้การรักษาตามอาการเช่นเดียวกับข้อ 1 หากมีอาการมากอาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง ในการติดตามผลการรักษา อาจต้องนัดตรวจเลือดเป็นระยะๆ(ประมาณทุก 2 - 4 สัปดาห์)จนกระทั่งแน่ใจว่าระดับเอนไซม์เอสจีโอที และเอสจีพีที ลงสู่ปกติซึ่งแสดงว่าหายดีแล้ว ผลการรักษาส่วนใหญ่จะหายดี (ตาเหลืองหายเพลีย กินข้าวได้มาก และผลเลือดเป็นปกติ) ภายใน 3 - 16 สัปดาห์ ส่วนน้อยอาจเป็นเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นมานานเกิน 6 เดือน ก็เรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรัง (มักเกิดกับตับอักเสบชนิดบี)ซึ่งอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเช่น ทำ สะแกนตับ (Liver scan) หรือเจาะเอาเนื้อตับพิสูจน์(Liver biopsy) เพื่อดูว่าเป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลาม หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆเช่น ตับแข็ง หรือมะเร็งตับหรือไม่ ถ้าเป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลาม อาจต้องให้การรักษาด้วยยาสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน
อาการ
ผู้ป่วยโรคนี้ห้ามดื่มเหล้านาน 1 ปี เพราะอาจทำให้โรคเรื้อรังหรือกำเริบใหม่ได้
ระหว่างที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล , เตตราซัยคลีน , ไอเอ็นเอช , อีริโทรมัยซิน , ยาคุมกำเนิดเป็นต้น
เข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ ควรทิ้งไปเลยห้ามนำไปฉีดผู้อื่น ต่อเพราะอาจแพร่เชื้อได้
ผู้ป่วยควรถ่ายอุจจาระลงในส้วม และควรล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง รวมทั้งควรแยกสำรับกับข้าว และเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
คนที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเสมอไปทุกคน บางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพียงชั่วคราวโดยไม่เป็นโรค แล้วเชื้อหายไปได้เอง บางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการแสดงแต่อยางไร แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เราเรียกว่า พาหะนำโรค (carrier) ที่สำคัญคือโรคตับอักเสบชนิดบีซึ่งในบ้านเราพบคนที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี ประมาณ 2.5 ล้านคน บางคนหลังได้รับเชื้อ อาจมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือคลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดท้อง โดยไม่มีอาการตาเหลืองก็ได้
ผู้ที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี(พบเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่มีอาการผิดปกติอต่อย่างไร)ควรหาทางพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ห้ามดื่มเหล้า ออกกำลังกายแต่พอควร ห้ามหักโหมจนเกินไป และหมั่นตรวจเลือดดูเชื้อและทดสอบการทำงานของตับทุก 6 - 12 เดือน
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี ควรตรวจเลือด ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
การป้องกัน
สำหรับตับอักเสบชนิดเอ
ควรกินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายลงส้วม ล้างมือก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
สำหรับตับอักเสบชนิดบี
ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยา หรือให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องฉีดยา ควรเลือกใช้เข็มและกระบอกฉีดยาที่ทำให้ปราศจากเชื้อโรค
ในการให้เลือด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยการตรวจเช็คเลือดของผู้บริจาคทุกราย
แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ควรระมัดระวังในการสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย เช่น สวมถุงมือขณะเย็บแผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะผู้ป่วย
ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันตับอักเสบชนิดบีแต่เนื่องจากราคาค่อนแพง ยังไม่แนะนำให้ฉีดในคนทั่วไป จะเลือกฉีดให้แก่บุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้สูง เช่น แพทย์,พยาบาล,ผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องรับการถ่ายเลือดบ่อยๆ,ทารกที่เกิดจากมารดาที่ตรวจพบเชื้อไวรัสบี ในเลือดเป็นต้น
การตรวจเลือดวินิจฉัยโรคตับอักเสบชนิดบี
สำหรับโรคตับอักเสบชนิดบี ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเลือดเพื่ออการวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะหลายคำ ที่ใคร่จะขอแนะนำไว้ในที่นี้ดังนี้ HBsAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B surface antigen เดิมเคยเรียกว่า Australia antigen หรือ Hepatitis associated antigen (HAA) HBcAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B core antigen HBeAg หมายถึง แอนติเจนส่วนแกนกลางของไวรัสที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด(เซรุ่ม) สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะฟักตัวของโรค (ก่อนมีอาการแสดง) Anti - HBs หมายถึง แอนติบอดี(ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBsAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อประมาณ 4 - 6 เดือนไปแล้ว ผู้ที่มี Anti - HBs จะไม่ติดเชื้อไวรัสชนิดบี อีก Anti - HBc หมายถึง แอนติบอดี(ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBcAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อ 4 - 6 สัปดาห์ ไปแล้ว และจะพบอยู่ตลอดไป โดยทั่วไปมักจะเจาะเลือดหา HBsAg Anti - HBs และ Anti - HBc ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคดังนี้
ถ้าตรวจไม่พบสารตัวหนึ่งตัวใดดงกล่าวเลยก็แสดงว่าไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทานต่อตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี
ถ้าตรวจพบ HBsAg เพียงอย่างเดียว แสดงว่ากำลังติดเชื้อ หรือเพิ่งเป็นโรคนี้ สามารถติดต่อให้ผู้อื่นได้
ถ้าตรวจพบ Anti - HBc เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยติดเชื้ออมาไม่นาน แต่เวลานี้ไม่มีเชื้อแล้ว และไม่ติดต่อ(แพร่เชื้อ)ให้ผู้อื่น
ถ้าตรวจพบ HBsAg ร่วมกับ Anti - HBc แสดงว่ากำลังติดเชื้อ อาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเป็นพาหะเรื้อรัง สามารถติดต่อให้ผู้อื่นได้
ถ้าตรวจพบ Anti - HBc ร่วมกับ Anti - HBs แสดงว่าเคยติดเชื้อมาก่อน และมีภูมิต้านทานแล้วไม่ติดเชื้อซ้ำอีก
ถ้าตรวจพบ Anti - HBs เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้
เข็มฉีดยาอาจเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบได้
กลับสู่หน้าแรก
นิ่วในถุงน้ำดี , ถุงน้ำดีอักเสบ
(Gallstone , Cholecystitis)
นิ่วในถุงน้ำดี
มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (มักไม่พบในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5 เท่า นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี เกิดจากการตกผลึกของหินปูน(แคลเซียม),โคเลสเตอรอล (cholesterol) และบิริรูบิน (billurubin) ที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกี่ยวกับการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบ(เช่น โคเลสเตอรอล , บิลิรูบิน) ในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็กๆหลายๆก้อนก็ได้ คนที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง , หญิงที่มีบุตรแล้ว , ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน , ธาลัสซีเมีย , โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป
ส่วนถุงน้ำดีอักเสบ
มักเป็นโรคแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี มีเพียงส่วนน้อยที่อาจไม่พบร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดีแต่อาจพบในโรคอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ , ตับอ่อนอักเสบ , ความผิดปกติของท่อส่งน้ำดี เป็นต้น
อาการ
1. นิ่วในถุงน้ำดี
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย จะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นอต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็คร่างกายด้วยโรคอื่น บางคนอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักจะเป็นหลังกินอาหารมันๆ ในรายที่ก้อนนิ่วเคลลื่อนไปอุดในท่อส่งน้ำดี (bile duct) จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรวใต้สะบักขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางคนอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันๆ หรือกินอาหารมื้อหนัก บางคนอาจมีอาการดีซ่าน(ตาเหลือง)เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง การตรวจร่างกาย มักไม่พบสิ่งผิดปกติ มักไม่มีไข้บางครั้งอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา บางคนอาจมีอาการตาเหลือง
2. ถุงน้ำดีอักเสบ
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดตรงบริเวณใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน การตรวจร่างกาย จะพบอาการไข้และกดเจ็บมาดเป็นบริเวณกว้างที่ใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการตาเหลืองร่วมด้วย ในรายที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการปวดตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เป็นๆหายๆ เรื้อรัง คล้ายอาการของอาหารไม่ยอย โดยมากจะมีอาการหลังกินอาหารมันๆ หรือตอนดึกๆ บางครั้งอาจมีอากากดรปวดบิดเป็นพักๆ แบบเดียวกับอาการปวดของนิ่วในถุงน้ำดี การตรวจร่างกาย มักไม่พบความผิดปกติชัดเจน ยกเวันในบางรายอาจมีอาการกดเจ็บตรงใต้ชายโครงขวาเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อน
นิ่วในถุงน้ำดี
อาจทำให้เกิด ถุงน้ำดีอักเสบ , ท่อน้ำดีอักเสบ , ตับอ่อนอักเสบ,
ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน
อาจทำให้เกิด ภาวะมีหนองในถุงน้ำดี ,ถุงน้ำดีเน่า,ถุงน้ำดีทะลุ,เยื่อบุช่องท้องอักเสบ,ท่อน้ำดีอักเสบ
ถุงน้ำดีอักเสบรื้อรัง
อาจทำให้เกิดนิ่วในท่อส่งน้ำดีตับอ่อนอักเสบและอาจมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งของถุงน้ำดี
การรักษา
ถ้ามีอาการปวดท้องที่ชวนสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลลภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นอาจให้การรักษาตามอาการไปพลางก่อน เช่น ถ้ามีอาการท้องอืดเฟ้อ ให้กินยาลดกรด หรือยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ , ถ้ามีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ให้ แอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรฟีน,ไฮออสซีน ซึ่งอาจใช้ชนิดฉีดหรือชนิดกินก็ได้ สุดแต่สภาพการณ์ของผู้ป่วย ควรให้งดอาหารมันๆ
ถ้ามีไข้ ดีซ่าน หรือกดเจ็บมากตรงบริเวณใต้ชายโครงขวา ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง อาจให้กาารักษาเบื้องต้น โดยให้ยาลดไข้ แอมพิซิลลิน และให้น้ำเกลือ (ถ้ามีภาวะขาดน้ำ)อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ หรือ ทำอุลตราซาวนด์ (ultrasound scan) และให้การรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ในกรณีที่มีการาอักเสบของถุงน้ำดี มักจะให้ยาปฏิชีวนะ ควบคุมอาการก่อนจะทำการผ่าตัด
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะไม่มีอาการแสดงอะไร (แต่บังเอิญตรวจพบขณะที่ตรวจรักษาโรคอื่น) ก็ควรแนะนำให้รับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไวั อาจมีการอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนตามมา และถ้ารอให้มีอาการแทรกซ้อนแล้วค่อยผ่าตัด อาจมีโอกาสเสียงมากกว่าผ่าตัดขณะที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน
ในปัจจุบันมีการค้นพบยาที่ใช้ละลายนิ่วในถุงน้ำดีมีชื่อว่า กรดซีโนดีออกซีโคลิก (chenodeoxycholic acid) ซึ่งใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยบางราย โดยอาจต้องกินยานานเป็นปีๆ ขณะนี้ราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคนี้เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น
โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการลดกินอาหารมันๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ
ถ้าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรผ่าตัดเอาออกหากปล่อยไว้ อาจเป็นอันตรายได้
กลับสู่หน้าแรก
ตับแข็ง
(Cirrhosis)
ตับแข็ง
เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในจำพวกโรคตับเรื้อรัง มักพบในคนที่ดื่มเหล้าจัด แต่ก็อาจพบในคนยากจนที่ขาดอาหารมานาน หรือพบเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบจากไวรัส ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีประวัติเหล่านี้ก็ได้ อาการเริ่มแรก มักเกิดในช่วงอายุระหว่าง 40 - 60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อย มักมีสาเหตุจากตับอักเสบจากไวรัส ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง
สาเหตุ
เกิดจากกเซลล์ของตับเสียเป็นจำนวนมาก ทำให้ตับทำหน้าที่ไมได้ มักเป็นผลจากการดื่มเหล้าจัด อาจเกิดจากการขาดอาหาร , ตับอักเสบจากไวรัส ,หัวใจวายเรื้อรัง ,ธารัสซีเมีย
อาการ
จะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่ค่อยรู้สึกตัว เริ่มแรกจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้ และอาจมีอาการอาเจียนเป็นบางครั้ง รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย มักจะถ่ายเหลว ความรู้สึกทางเพศลดลง ตาอาจจะเหลืองเล็กน้อย ในผู้หญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือน ในผู้ชายอาจมีอาการนมโตและเจ็บ ในระยะสุดท้ายของโรค จะมีอาการท้องมาน เท้าบวมเส้นเลือดขอดที่ขา เส้นเลือดพองที่หน้าท้อง อาจอาเจียนเป็นเลือดสดๆเนื่องจากเส้นเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วแตกซึ่งอาจถึงช็อกและตายได้ ผู้ป่วยมักจะลงเอยด้วยอาการซึม เพ้อ มือสั่น และค่อยๆไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งหมดสติ
สิ่งที่ตรวจพบ
เท้าบวม ท้องบวม อาจมีตาเหลืองเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม ที่หน้าอก จมูก ต้นแขน อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำลายข้างหู (Parotid gland) อาจโตคล้ายคางทูม และอาจมีอาการขนร่วงในผู้ชายอาจพบอาการนมโตและเจ็บเรียกว่า ไกนีโคมาสเตีย (gynecomastia) ตับอาจคลำได้ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ ถ้าเป็นมาก จะพบว่ารูปร่างผอมกระหร่อง ซีด ท้องโตมาก เส้นเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต นิ้วปุ้ม
อาการแทรกซ้อน
ภูมิต้านทานโรคลดลงทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย (เช่น วัณโรค ปอดบวม) ถ้าเป็นเรื้อรังจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร (Esophageal varices) เกิดแตกซึ่งอาจช็อกถึงตายได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้เลยก็จะเกิดอาการหมดสติเรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับเสีย (Hepaticcomal) นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งในตับสูงกว่าคนปกติ
การรักษา
หากสงสัย ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลอาจต้องเจาะเลือดหรือเจาะเนื้อตับไปพิสูจน์ ถ้าเป็นจริงก็ให้การรักษาตามอาการให้ยาขับปัสสาวะ ลดบวมและวิตามินบำรุง ประคับประคองมิให้ทรุดโทรม
ถ้าอาเจียนเป็นเลือดหรือหมดสติให้รีบส่งโรงพยาบาล ถ้ามีอาการช็อก ให้น้ำเกลือระหว่างทางด้วย
ข้อแนะนำ
แนะนำให้ผู้ป่วยงดเหล้าโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตับส่วนที่ดีเสียมากขึ้น มิเช่นนั้นอายุจะสั้น
งดอาหารเค็มจัด เพื่อลดอาการบวม
พยายามให้กินของหวาน ผักสด นม ไข่ วิตามินบี วิตามินซี อาหารประเภทโปรตีน
โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด มีแต่ทรงกับทรุดจึงควรแนะนำให้ติดต่อรักษากับแพทย์คนหนึ่งคนใดเป็นประจำ ซึ่งอาจช่วยทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น และป้องกันมิให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้
ป้องกันโรคตับแข็งด้วยการไม่ดื่มเหล้า
กลับสู่หน้าแรก
มะเร็งตับ โรคพยาธิใบไม้ในตับ
มะเร็งตับ
เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรวมกันทั้ง 2 เพศมักเกิดในคนอายุ 35 - 55 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 4 - 5 เท่า ในบ้านเราแบ่งมะเร็งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
มะเร็งเซลล์ตับ
(Hepatoma/hepatocellular carcinoma) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับ ซึ่งพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เชื้อว่ามีสาเหตุสัมพันธ์กับโรคตับอักเสบชนิดบี และตับแข็ง อย่างใกล้ชิดนอกจากนี้ยังพบว่าสารอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่ได้มาจากเชื้อราบางชนิดที่ขึ้นบนถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม เป็นต้น เป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็งชนิดนี้
มะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี
(Cholangiocarcinoma) หมายถึงมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ (billiary tree) ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ในตับ และสารไนโตรซามีน(nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบในอาหารพวก โปรตีนหมัก(เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม ฯลฯ)และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว(เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ฯลฯ) ส่วนโรคพยาธิใบไม้ในตับ (Liver fluke หรือ Opisthorchis) ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาตามหนองบึง เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร ปลากะมัง ฯลฯ ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน เมื่อคนกินปลาดิบๆ ที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไปตัวอ่อนของพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ในตับอย่างถาวร บางตัวสามารถอยู่ได้นานถึง 25 ปี ทำให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติของตับ เชื้อว่ามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี
วงจรชีวิตของพยาธิ
พยาธิตัวแก่ที่อยู่ในตับคนหรือ สุนัข,แมว จะออกไข่ปนออกมากับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและไข่จะออกมาพร้อมกับอุจจาระ ถ้าถ่ายอุจจาระลงน้ำไข่จะถูกหอยชนิดหนึ่งกินและฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะออกจากหอย ว่ายน้ำไปสู่ปลาดังกล่าว เมื่อคนกินปลา พยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตในตับอีก ในประเทศของเราพบว่า โรคพยาธิใบไม้ในตับมีชุกชุมทางภาคอีสาน ซึ่งประชาชนยังนิยมกินปลาดิบๆ และปลาร้า ในปีหนึ่งๆ ชาวอีสานตายจากโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี (อันเป็นผลแทรกซ้อนของโรคพยาธิใบไม้ในตับ) เป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านในถิ่นนี้รู้จักโรคนี้กันดี และเรียกว่า โรคตับโต
อาการ
1. โรคมะเร็งตับ
ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อยต่อมาจะมีอาการผอมลงอย่างรวดเร็ว และคลำได้ก้อนแข็งขรุขระที่บริเวรใต้ชายโครงขวา บางคนอาจมีอาการไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย ระยะหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ไต้ชายโครงขวา ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องมาน (ท้องบวมน้ำ)และอาจมีอาการม้ามโต อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด
2. โรคพยาธิใบไม้ในตับ
ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลย หรือมีเพียงอาการท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย หรือออกร้อนบริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก ตรวจอุจจาระจะพบไข่พยาธิใบไม้ในตับ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ปล่อยจนเลยวัยกลางคนอาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการของท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อน กล่าวคือ มีอาการไข้ ดีซ่าน ปวดแถวลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ อาจเป็นๆหายๆหรือเป็นติดต่อเรื่อยไป ในที่สุด เมื่อโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีแทรกซ้อนผู้ป่วยจะมีอาการของมะเร็งตับในระยะท้าย กล่าวคือ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว มีอาการดีซ่าน ท้องมาน และคลำได้ก้อนแข็งขรุขระที่บริเวณใต้ชายโครงขวา
การรักษา
1. โรคพยาธิใบไม้ในตับ
ถ้าสงสัย ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจอุจจาระ และถ้ามีอาการรุนแรง อาจต้องตรวจเลือด เอกซเรย์ ทำสะแกนตับ (Liver scan) หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ในรายที่ยังไม่มีโรคมะเร็งแทรกซ้อน ในปัจจุบันมียาที่ใช้กำจัดพยาธิใบไม้ในตับได้ผลดี มีชื่อว่า พราซิควานเทล (praziquantel) ซึ่งราคาค่อนข้างแพง ผู้ป่วยจะได้รับยานี้ซึ่งเป็นยาเม็ดขนาด 600 มก. กินเพียงครั้งเดียว 3 เม็ด (เด็กให้ขนาด 20 - 40 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.) ยานี้ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
2. โรคมะเร็งตับ
ถ้าสงสัย ควรแนะนำไปรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือด เอกซเรย์ ทำสะแกนตับ เจาะเอาเนื้อตับพิสูจน์ (Liver biopsy) ถ้าเป็นจริง ก็มักจะไม่มีทางรักษา ผู้ป่วยมักจะตายภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปีหลังแสดงอาการ เพียงแต่ให้ยาแก้ปวด และให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ยกเว้นในรายที่ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกอาจทำการผ่าตัดรักษาได้ แต่ก็พบได้เป็นส่วนน้อย
ข้อแนะนำ
1. โรคพยาธิใบไม้ในตับ
สามารถป้องกันได้โดยการไม่กินปลาน้ำจืดอย่างดิบๆ และถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมียาที่ใช้ฆ่าพยาธิใบไม้ในตับอย่างได้ผลแล้วก็ตาม แต่ถ้าประชาชนยังไม่เลิกนิสัยการกินปลาดิบๆ และถ่ายกลางทุ่ง ก็ยังคงติดโรคพยาธิซ้ำๆ ซาก ๆ เรื่อยไปอยู่ดี นอกจากทำให้สิ้นเปลืองค่ายารักษาแล้ว ยังอาจไม่มีผลต่อการป้องกันโรคแทรกซ้อนอีกด้วย
2. โรคมะเร็งตับ
เมื่อมีอาการแสดงแล้ว มักไม่มีทางรักษาและอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ดังนั้นทางที่ดีควรหาทางป้องกันโดย
ไม่ดื่มเหล้ามาก เพราะอาจทำให้ตับแข็งซึ่งกลายเป็นมะเร็งตับได้
ไม่กินปลาน้ำจืดดิบๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซิน เช่น ถั่ว , ข้าวโพด , พริกแห้ง , หัวหอม , กระเทียม ที่ขึ้นรา
ไม่กินอาหารที่มีสารไนโตรซามีน เช่น อาหารโปรตีนหมัก หรือเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว หากจะกิน ควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารนี้เสียก่อน
ระวังหาทางป้องกัน อย่าให้เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส
ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ สามารถตรวจหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรกได้ โดยการเจาะเลือดตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน ผู้ที่มีโอกาสเสียงต่อการเป็นโรคนี้สูง เช่น ผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสบีเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้หมั่นตรวจเลือดหาสารนี้เป็นระยะๆ อาจช่วยให้มีทางตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรกและให้การรักษาได้
ป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับด้วยการละเว้นจากการกินปลาน้ำจืดอย่างดิบๆ
กลับสู่หน้าแรก
โรคกระเพาะ
(Peptic ulcer)
โรคกระเพาะ
ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง แผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร (stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น (deodenum) โรคนี้พบได้ประมาณ 10 % ของประชากรทั่วไปและพบได้ทุกเทศทุกวัย ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรัง
แผลที่สำไส้เล็กส่วนต้น
(Duodenal ulcer/DU) พบบ่อยในวัยหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ ประมาณ 30 ปีเศษ) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกิน ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา แต่สาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากกว่าปกติ ยังไม่ทราบแน่ชัดเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธ์และฮอร์โมนในร่างกาย โรคนี้พบมากในคนที่เคร่งเครียดกับการงาน กินข้าวไม่ตรงเวลา วิตกกังวลหรือคิดมาก อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ถุงลมพอง ,ตับแข็ง ,ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง,เนื้องอกของตับอ่อน,ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidsm) ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ ระหว่างตั้งครรภ์อาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้เอง แต่พอถึงวัยหมดประจำเดือน อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้ เชื่อว่าฮอร์โมนเพศมีความสัมพันธ์กับโรคนี้
แผลที่กระเพาะอาหาร
(Gastric ulcer/GU) พบได้น้อยกว่าแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ประมาณ 4 เท่า มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 50 ปีเศษ) พบได้ในผู้หญิงกับผู้ชายจำนวนเท่าๆกัน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ แต่ความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารเสื่อมลง อาจมีสาเหตุมาจากดื่มเหล้าจัด , การกินแอสไพริน , ยาแก้ปวดข้อ ,ยาที่เข้าสเตอรอยด์ หรือรีเซอพีน หรืออาจเกิดจากน้ำดีขย้อนจากลำไส้เล็กขึ้นมาที่กระเพาะอาหารก็ได้ โรคนี้มักพบในคนที่มีฐานะยากจน ขาดอาหารสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคปอด โรคไต หรือโรคมะเร็ง
อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรังมักปวดตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ (บางคนอาจค่อนมาทางใต้ชายโครงขวาหรือซ้ายก็ได้) เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด จุกแน่น หรือมีความรู้สึกแบบหิวข้าว อาการปวดมักจะดีขึ้นถ้าได้กินอาหาร ดื่มนม กินยาลดกรดหรืออาเจียน นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือเรอเปรี้ยว ผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือขณะที่ท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสายๆ หลังกินข้าวเช้าแล้ว(ก่อนอาหารเช้ามักไม่มีอาการปวด) จะปวดมากขึ้นช่วงบ่ายๆ และเย็นๆ และอาจปวดมากตอนเที่ยงคืนถึง ตี 2 จนนอนไม่หลับ ในรายที่เป็นมาก อาจปวดร้าวไปที่หลังร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่มักจะกำเริบใหม่ภายในเวลา 2 ปี ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ ครึ่ง - 1 ชั่วโมง หรือหลังกินอิ่มๆมักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ากินอาหารและน้ำหนักลด
สิ่งที่ตรวจพบ
ส่วนมากมักตรวจไม่พบอะไร บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ถ้าเป็นเรื้อรัง และมีเลือดออก(เลือดที่ออกในกระเพาะลำไส้ เมื่อถูกกับกรดจะเป็นสีดำ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระดำ) ผู้ป่วยอาจมีอาการซีด
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากมักจะไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่ อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้เช่น กระเพาะทะลุ , กระเพาะหรือลำไส้ตับตัน , เลือดออกในกระเพาะอาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดสด หรือถ่ายอุจจาระดำ(ถ้าเลือดอกมาก อาจถึงช็อกได้ ถ้าออกทีละน้อย ทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก) ในผู้ป่วยที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร บางรายถ้าเป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การรักษา
แนะนำข้อปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยดังนี้
อย่าปล่อยให้ท้องหิว ต้องพยายามกินอาหารให้ตรงเวลา ถ้ารู้สึกหิวก่อนเวลา ควรให้กินยาลดกรด นม หรือน้ำข้าว
อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ควรกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อกระเพาะ เช่น เหล้า ,เบียร์,น้ำอัดลม,ยาแก้ปวดแอสไพริน,ยาแก้ปวดข้อ,สเตอรอยด์ เป็นต้น
ควรงดบุหรี่ ,ชา ,กดแฟ เพราะอาจกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น
หมั่นออกกำลังกาย (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ)เป็นประจำ
ให้ยารักษาดังนี้
ยาลดกรดให้กินครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะหรือ 2 เม็ด โดยกินเป็นประจำวันละ 4 ครั้งหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอนถ้าปวดมาก ให้กินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงและก่อนนอน (รวมเป็น 7 ครั้ง) นอกจากนี้ให้กินเพิ่มเติมได้ ทุกครั้งที่รู้สึกปวดท้อง
ในผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง ให้ยากลล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัม ให้กินวันละ 2 - 3 ครั้งๆละ 1 เม็ด เมื่ออาการดีขึ้นให้หยุดยาได้
ในรายที่มีอาการซีดให้กิน เฟอร์รัสซัลลเฟต วันละ 2 - 3 ครั้งๆละ 1 เม็ด ยานี้ควรกินคนละเวลากับยากลด หากกินพร้อมกัน อาจทำให้ถูกดูดซึม ได้น้อย ควรให้ยานานสัก 2 สัปดาห์ ถ้าอาการดีขึ้น ควรให้ยาลดกรดกินติดต่อกันนาน 6 - 12 สัปดาห์
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือเป็นๆหาย เรื้อรัง ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจโดยการเอกซเรย์กระเพาะ(กลืนแป้งแบเรียม) หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้(endoscope) เพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของแผล ถ้าสงสัยเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหาร ควรทำการตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์(biopsy) ถ้าเป็นเพียงแผลธรรมดา นอกจากให้ยาดังในข้อ 2 แล้ว อาจต้องให้ยาลดการสร้างกรดพวก ไซเมติดีน (cimetidine) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลซีดีน (Ulcedine) หรือ ทากาเมต (Tagamet) ขนาด 200 มิลลลิกรัม 1 เม็ด 3 เวลา หลังอาหาร และ 2 เม็ดก่อนนอน (รวมเป็น 5 เม็ด ต่อวัน) เป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะหายได้ แต่ก็อาจกำเริบได้อีก บางคนอาจมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรัง ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน(เช่น เลือดออก กระเพาะทะลุหรือลำไส้ตีบตัน) และผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อแนะนำ
อาการปวดแสบหรือจุกแน่นเวลาท้องหิวหรืออิ่มจัดมักเรียกว่า " โรคกระเพาะ" นั้นอาจมีสาเหตุจากผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น,แผลที่กระเพาะอาหาร,กระเพาะอาหารอักเสบ,อาหารไม่ย่อย,มะเร็งของกระเพาะอาหาร บางครั้งอาศัยลักษณะอาการเพียงอย่างเดียวอาจแยกแยะโรคไม่ได้ อาจต้องวินิจฉัยจากเอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ นอกจากนี้ อาการปวดท้องที่บริเวณเหนือสะดือ อาจมีสาเหตุจากโรคตับอักเสบจากไวรัส ,นิ่วใต้ถุงน้ำดี , ตับอ่อนอักเสบ,ไส้ติ่งอักเสบระยะแรก ,กระเพาะทะลุ เป็นต้น ดังนั้น จึงควรซักถามประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียดถี่ถ้วน หากให้การรักษาแบบโรคกระเพาะแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ ที่ผิดไปจากโรคกระเพาะ ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน
การรักษาโรคกระเพาะ นอกจากยาแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญอีกด้วย ในรายที่เป็นเรื้อรัง การออกกำลังและพักผ่อนคลายความเครียด้วยวิธีต่างๆ อาจช่วยให้โรคทุเลาลงได้
การออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยให้โรคกระเพาะทุเลาหรือหายขาดได้
กลับสู่หน้าแรก
กลับสู่หน้าหลัก I
การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I
ระบบทางเดินหายใจ I
อุบัติเหตุ สารพิษ