35. ไส้ติ่งอักเสบ 36. กระเพาะทะลุ 37. กระเพาะหรือลำใส้อุดตัน
38. ม้าม ตับ ไต ฉีกขาด เลือดตกใน 39. ไส้เลื่อน 40. ริดสีดวงทวาร
กลับสู่หน้าหลัก I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I ระบบทางเดินหายใจ I อุบัติเหตุ สารพิษ

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงที่ต้องผ่าตัด หากพบมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ควรนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อนเสมอ
สาเหตุ เกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง เช่น มีเศษอุจจาระตกลงไปในไส้ติ่ง ทำให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ
อาการ
มักมีอาการปวดท้องมาก เริ่มแรกอาจปวดเป็นพักๆ รอบสะดือคล้ายโรคกระเพาะ หรือท้องเดิน อาจจะเข้าส้วมบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก บางคนอาจสวนด้วยยาถ่าย อาการปวดถึงแม้จะกินยาแก้ปวดอะไรก็ไม่หาย ต่อมาอีก 3 - 4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา ต้องนอนนิ่งๆ เคลื่อนไหวตัวจะทำให้ปวดมาก ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและมีไข้ต่ำๆ บางคนถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น อาการจะเป็นอยู่นับชั่วโมงถึงหลายวัน บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยข้างขวาโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้ ในเด็กประวัติอาการอาจไม่แน่นอน
สิ่งตรวจพบ ไข้ต่ำๆ (37.5 - 38 องศาเซลเซียส) บางคนอาจไม่มีไข้ ลิ้นเป็นฝ้าหนา กดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาโดยเฉพาะตรงจุดไส้ติ่ง หรือจุดแมกเบอร์เนย์ ถ้าใช้มือค่อยๆ กดตรงบริเวณนั้นลึกๆ แล้วปล่อยมือทันทีให้ผนังหน้าท้องกระเด้งกลับทันที ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากเรียกว่า อาการกดปล่อยแล้วเจ็บ (rebound tenderness) ถ้าไส้ติ่งแตก จะมีอาการปวดเจ็บทั่วบริเวณท้องน้อย ท้องแข็ง อาจคลำได้ก่อน และไข้สูง
อาการแทรกซ้อน ไส้ติ่งเป็นฝี แตก ลุกลามกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจเกิดขึ้นหลังมีอาการเพียงไม่กี่วัน
การรักษา
  1. หากสงสัย ควรรีบส่งโรงพยาบาลเพื่อทำผ่าตัด ควรงดอาหารและน้ำดื่ม ถ้ามีอาการขาดน้ำให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย การรักษาทางยามียากินหรือยาฉีด อาจระงับอาการได้ชั่วคราว แต่ไม่หายขาด และถ้าปล่อยไว้หลายวันจนไส้ติ่งแตกก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาเสียเงินเสียเวลาและเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
  2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ห้ามสวนอุจจาระ หรือให้ยาระบาย เพราะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
ข้อแนะนำ
  1. คนที่มีอาการปวดเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจเป็นระยะแรกของไส้ติ่งได้
  2. คนที่มีไข้สูงนำมาก่อนหลายวันแล้วค่อยปวดท้องคล้ายไส้ติ่ง อาจเป็นอาการของไข้ไทฟอยด์
  3. อาการของไส้ติ่ง อาจไม่มีไข้ หรืออาการอย่างอื่นนำมาก่อนก็ได้
  4. ในผู้หญิง ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยข้างขวา และมีไข้สูงหนาวสั่น ตั้งแต่ระยะแรกอาจเป็นปีกมดลูกอักเสบได้
ถ้ามีอาการปวดท้องและกดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวา ควรนึกถึงโรคไส้ติ่งอักเสบไว้เสมอ

กลับสู่หน้าแรก

กระเพาะทะลุ (Peptic perfoeation)
กระเพาะทะลุ มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลที่กระเพาะหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องแบบโรคกระเพาะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังหรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน ,ยาชุด)หรือดื่นเหล้า เป็นประจำ เป็นโรคที่พบได้ไม่น้อยในหมู่ชาวชนบทที่มีปัญหาติดยาแก้ปวดยี่ห้อต่างๆ (ที่มีส่วนผสมของแอสไพรินกับคาเฟอีน) ผู้ป่วยจะมีแผลที่กระเพาะหรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่ค่อยๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู แล้วกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และโลหิตเป็นพิษ หากรักษาไม่ทัน อาจตายได้
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน และปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ (มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยาฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการปวดท้องมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือสองข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่งๆ เพราะหากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
สิ่งที่ตรวจพบ มีอาการกดเจ็บ(tenderness) กดปล่อยแล้วเจ็บ(rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติหรือแทบไม่ได้ยินเลย ชีพจรมากว่า 120 ครั้งต่อนาที บางคนอาจมีอาการช็อก หรือกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ความดันเลือดตก บางคนอาจมีไข้ขึ้น
การรักษา หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลด่วน ในรายที่อาการไม่ชัดเจน ให้ลองฉีดยาแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรฟีน , ไฮออสซีน , ดูก่อน ถ้าปวดจากอาการกระเพาะเกร็ง มักจะหายปวดได้ แต่ถ้าไม่หายปวดใน 15 - 30 นาที ก็น่าจะสงสัยว่าเป็นกระเพาะทะลุ ระหว่างส่งโรงพยาบาล ควรให้งดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมผ่าตัด ถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักจะตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์ ถ้าเป็นจริงต้องผ่าตัดทุกราย
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากสงสัย(เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง)ควรส่งโรงพยาบาลด่วน การรักษาที่ถูกต้อง คือ การผ่าตัด ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน ก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น
  2. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ดื่มเหล้าหรือกินยาแก้ปวดหรือยาชุดเป็นประจำ และถ้ามีอาการของโรคกระเพาะ ควรหาทางรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
อาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมงมักมีสาเหตุร้ายแรง

กลับสู่หน้าแรก

กระเพาะหรือลำไส้อุดตัน (intestinal obstrucion)
กระเพาะหรือลำไส้อุดตัน เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดการอุดกั้น ทำให้อาหารผ่านลงไปไม่ได้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษา มักมีอันตรายถึงตายได้ โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากการดึงรั้งของพังผืดในช่องท้องภายหลังการผ่าตัดหรือการอักเสบ (bandadhesions) ,ไส้เลื่อน ,โรคกระเพาะที่มีการตีบตันของปลายกระเพาะอาหารแทรกซ้อน ,มะเร็งของกระเพาะอาหารหรือลำไส้,โรคพยาธิไส้เดือน,ลำไส้บิดตัว(volvulus) ,นิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอาจพบได้ในทารกหรือเด็กเล็ก เช่น
1. กระเพาะส่วนปลายตีบโดยกำเนิด (congenital pyloric stenosis) มักพบในช่วงอายุ 2 - 8 สัปดาห์
2. ลำไส้กลืนกันเอง (intussusception) เป็นภาวะที่พบได้น้อย อาจพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากในทารกอายุประมาณ 6 เดือน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
อาการ
ขึ้นกับตำแหน่งที่อุดตัน ถ้าอุดตันที่ลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ที่บริเวณรอบๆ สะดือและอาเจียนพุ่งรุนแรงติดๆกันมักมีเศษอาหารหรือน้ำดีออกมาถ้าอุดตันที่ลำไส้ใหญ่ มักไม่มีอาการอาเจียน หรือไม่ก็มีเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ไม่ว่าการอุดตันจะเกิดตรงตำแหน่งใดๆ ถ้าการอุดตันเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มักจะมีอาการท้องผูกร่วมด้วยเสมอ (อาจไม่มีการผายลมเลยถ้าอุดตันอย่างสมบูรณ์ที่ลำไส้ใหญ่) อาการท้องอืดอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก แต่ต่อมาจะค่อยๆ มีมากขึ้น ถ้าเป็นอยู่หลายวัน มักมีภาวะขาดน้ำ และอาจมีภาวะช็อก(เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก ปัสสาวะออกน้อย) บางครั้งอาจมองเห็นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หน้าท้อง เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้ติดกันถี่ๆ เป็นเสียงแหลม และถ้าเขย่าท้องอาจได้ยินเสียงเหมือนน้ำกระฉอก อาจพบรอยแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง หรือก้อนนูนของไส้เลื่อนที่บริเวณขาหนีบหรือลูกอัณฑะ
ในทารกที่เกิดจากกระเพาะส่วนปลายตีบ จะมีอาการอาเจียนพุงแรง ออกมาเป็นเศษนมมีกลิ่นเหม็น ในระยะแรกเด็กยังรู้สึกหิวและเคลื่อนไหวแข็งแรง อาการอาเจียนจะเป็นอยู่เรื่อยๆ จนต่อมาเด็กจะน้ำหนักลด กระสับกระส่าย และถ่ายอุจจาระน้อยลงเรื่อยๆ สังเกตที่หน้าท้อง มักพบการเคลื่อนไหวของลำไส้ และอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณส่วนปลายของกระเพาะอาหาร ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีภาวะขาดน้ำ ซึม ชัก และตายได้
ในเด็กที่เกิดจากลำไส้กลืนกันเอง มักมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นพักๆ (ถ้าเป็นทารก จะมีอาการร้องไห้เสียงดัง นานหลายนาที เว้นช่วงเงียบไปพักหนึ่ง แล้วร้องขึ้นอีก) และอาจมีอาการอาเจียน บางครั้งอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดคล้ายเยลลี่
อาการแทรกซ้อน ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ช็อก ลำไส้เน่าและทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ โลหิตเป็นพิษ
การรักษา หากสงสัย ให้ส่งโรงพยาบาล ควรให้งดน้ำและอาหาร และถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทางด้วย มักต้องเอกซเรย์ และทำการผ่าตัดด่วน ในเด็กที่มีสาเหตุจากลำไส้กลืนกันเอง อาจรักษาด้วยวิธีสวนแป้งแบเรียมพร้อมกับถ่ายเอกซเรย์ บางครั้งแรงดันจากการสวนแป้งแบเรียมอาจช่วยให้ลำไส้กลับคืนสู่สภาพปกติได้ แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ทารกที่ปวดท้อง ร้องไห้เป็นพักๆและอาเจียนรุนแรง อาจเป็นโรคกระเพาะหรือลำไส้อุดตัน

กลับสู่หน้าแรก

ตับ ม้าม หรือไตฉีกขาด เลือดตกใน
ตับ ม้าม หรือไตฉีกขาด มีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณท้องหรือหลัง เช่น ถูกยิง ถูกแทง ถูกแรงกระแทก ถูกของหนัก ๆหล่นทับ เป็นต้น เป็นผลให้อวัยวะภายในช่องท้องและหลอดเลือดฉีกขาดหรือแตก มีเลือดตกอยู่ในช่องท้อง เป็นเหตุให้ร่างกายเสียเลือดจนช็อกซึ่งอาจตายในเวลาอันรวดเร็ว
อาการ ผู้ป่วยจะมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่หน้าท้องหรือหลังมีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องอืดแน่น หน้ามืด เป็นลม ตัวเย็น เหงื่อออก ใจหวิวใจสั่น กระสับกระส่าย ในรายที่มีไตฉีกขาด จะมีอาการปัสสาวะออกเป็นเลือด
สิ่งตรวจพบ หน้าตาซีดเซียว หน้าท้องเกร็งแข็งและกดเจ็บ ชีพจรเบาเร็ว
การรักษา ควรส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน ให้งดอาหารและน้ำ และให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย มักจะต้องให้เลือดและทำการผ่าตัดโดยด่วน
ข้อแนะนำ
  1. ถ้าพบคนที่ถูกยิง ถูกแทง เข้าช่องท้องหรือบริเวณหลัง ควรพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
  2. ถ้าพบคนที่ถูกแรงกระแทกหรือของหนักๆ หล่นทับบริเวณหน้าท้องหรือหลัง ถึงแม้จะไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ให้เห็นที่บริเวณภายนอกก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดถ้าหากมีอาการปวดท้อง ปวดหลังรุนแรง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีความผิดปกติอื่นๆ ที่ชวนสังเกตว่ามีเลือดตกใน ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

กลับสู่หน้าแรก

ไส้เลื่อน (Hernia)
ไส้เลื่อน เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ(หย่อน) ผิดปกติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น ทำให้เห็นเป็นก้อนตุง มักจะเป็นเฉพาะเวลามีแรงดันในช่องท้องสูง เช่น เวลาไอ จาม ร้องไห้ เบ่งถ่าย ยกของหนัก ไส้เลื่อนมีหลายชนิด ซึ่งจะมีอาการโรคแทรกซ้อนและการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. บริเวณสะดือ ทำให้เป็นสะดือจุ่น หรือไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical) มักจะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้ จะเห็นสะดือโป่ง มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และจะหายได้เองก่อนอายุได้ 2 ขวบ ถ้าไม่หาย อาจต้องทำผ่าตัด เมื่ออายุได้ 3 - 6 ขวบ
2. บริเวณขาหนีบ ทำให้เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (lnguinal hernia) ซึ่งเป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจพบได้ประมาณ 1 - 2 % และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบๆ เท่า ถึงแม้ว่าผนังหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบจะอ่อนแอมาต้งแต่เกิด แต่อาการของไส้เลื่อน มักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมพอง นอกจากนี้ ยังมีไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (lncisional hernia) พบในผู้ป่วยบางคนที่ภายหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัดเกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสะดือจุ่น และไส้เลื่อนที่ขาหนีบซึ่งพบมากกว่าไส้เลื่อนชนิดอื่น
อาการ สะดือจุ่น ทารกมีอาการสะดือจุ่นหรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ มีอาการเป็นก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบ หรือลูกอัณฑะ ซึ่งจะเห็นขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงาย ก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร
อาการแทรกซ้อน อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ บางครั้งไส้เลื่อนอาจติดต้างอยู่ที่ขาหนีบหรือลูกอัณฑะไม่สามารถไหลกลับเข้าช่องท้องได้ตามปกติ เรียกว่าไส้เลื่อนชนิดติดค้าง (obstructed hernia) ซึ่งอาจทำให้มีอาการของลำไส้ตีบตัน คือปวดท้อง และอาเจียนรุนแรง ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างอยู่ถูกบีบรัดจนบวมและขาดเลือดมาเลี้ยง ในที่สุดลำไส้เน่าเรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด (stragulated hernia) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง เมื่อลำไส้เกิดการทะลุก็จะกลายเป็น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษา สะดือจุ่น ไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นในรายที่ก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าพันรอบเอว กดสะดือจุ่นไว้ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา รอจนอายุ 2 ขวบ ถ้ายังไม่หายอาจต้องผ่าตัดแก้ไข ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ควรแนะนำไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล ในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือก้อนติดค้าง ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำผ่าตัดอย่างรีบด่วน
ข้อแนะนำ
  1. ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบที่มีก้อนบวมที่ลูกอัณฑะมักจะมีความละอาย ไม่กล้าหาหมอ ควรอธิบายให้ทราบถึงสาเหตุที่เป็น และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การรักษาให้หายขาดมีอยู่ทางเดียวคือการผ่าตัด ระหว่างที่ยังไม่ได้ผ่าตัด ผู้ป่วยควรสังเกตอาการด้วยตัวเอง ถ้าหากมีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือความผิดปกติอื่นๆ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้
  2. ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ แม้ว่าจะพบมากในผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้ ซึ่งจะมีอาการเป็นก้อนตุงที่ขาหนีบ หากสงสัยควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องผ่าตัดเช่นเดียวกัน

กลับสู่หน้าแรก

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)
ริดสีดวงทวาร เป็นเส้นเลือดดำขอดที่เกิดขึ้นในบริเวณทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นพร้อมกันหลายที่ ถ้าเกิดจากเส้นเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนักเรียกว่า ริดสีดวงภายนอก (External hemorrhoids) ซึ่งอาจมองเห็นจากภายนอกได้ ถ้าเกิดจากเส้นเลือดที่อยู่ลึกเข้าไปเรียกว่า ริดสีดวงภายใน (Internal hemorrhoids) ซึ่งจะตรวจพบ เมื่อใช้เครื่องมือส่งทางทวารหนัก สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด มักพบในคนที่มีภาวะกดดันต่อเส้นเลือดดำในบริเวณนี้นานๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง(ต้องเบ่งถ่ายนายๆ) ,ไอเรื้อรัง ,การตั้งครรภ์,น้ำหนักมาก(อ้วน) ,ตับแข็ง,มีก้อนเนื้องอกในท้อง,ต่อมลูกหมากโต,มะเร็งของลำไส้ เป็นต้น เมื่อถ่ายอุจจาระ จะทำให้ผนังของเส้นเลือดแตกทำให้มีเลือดไหลได้ เป็นโรคที่พบได้บ่อย และพบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด โดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตรายแต่อาจเป็นๆหายๆเรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลโดยมากมักจะมีอาการเวลาท้องผูกหรือท้องเดินบ่อยครั้ง
อาการ ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก เป็นเลือดแดงสด เกิดขึ้นขณะถ่ายอุจจาระ อาจสังเกตมีเลือดปนเปื้อนกระดาษชำระหรือปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกเป็นหยด โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างไร บางคนอาจรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก และถ่ายอุจจาระลำบากหรืออาจมีอาการคันก้น ถ้าริดสีดวงอักเสบ หรือหลุดออกมาข้างนอก อาจทำให้รู้สึกปวดรุนแรง จนถึงกับนั่งยืนหรือเดินไม่สะดวก และคลำได้ก้อนเนื้อนุ่มๆสีคล้ำๆ ที่ปากทวารหนัก ถ้ามีเลือดออกมากหรืออเรื้อรัง อาจมีอาการซีดได้
อาการแทรกซ้อน อาจทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
การรักษา
  1. ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมากๆ และกินผักผลไม้ให้มากๆ ถ้ายังท้องผูก ให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ,ดีเกลือ อย่ายืนนานๆ หรือนั่งเบ่งถ่ายนานๆ
  2. ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวด ,นั่งแช่ในน้ำอุ่นผสมด่างทับทิมวันละ 2 - 3 ครั้ง ละ 15 - 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร เช่น อะนูซอล (Anusall), เซอริพร็อกต์ (Scheriproct),พร็อกโตซีดิล(Prostosedyl) เหน็บวันละ 2 - 3 ครั้ง (เช้า ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ) จนอาการบรรเทา ปกติใช้เวลาประมาณ 3 - 5 วัน
  3. ถ้าซีดให้ เฟอร์รัสซัลเฟต วันละ 3 ครั้งๆละ 1 เม็ด
  4. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอกให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าไม่ได้ผล ควรแนะนำไปโรงพยาบาล
  5. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆ บ่อยหรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วยหรือพบในคนสูงอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องใช้เครื่องส่องตรวจทวารหนัก (Proctoscope) ถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ อาจต้องเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม หรือใช้เครื่องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ถ้าเป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุร้ายแรงก็มักจะให้การรักษาดังได้กล่าวข้างต้น ถ้าเป็นมากอาจรักษาด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงให้ฝ่อไป วิธีนี้สะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ - 5 ครั้ง ช่วยให้หายขาดได้ 60 % ส่วนอีก 40 % อาจกำเริบได้ใหม่ ถ้าเป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องผ่าตัด
ข้อแนะนำ
  1. ริดสีดวงทวาร โดยตัวมันเอง ไม่ใช่โรคร้ายแรง(มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด) แต่อาจเป็นเรื้อรัง ถึงแม้เคยผ่าตัดรักษามาแล้ว ก็อาจเกิดริดสีดวงหัวใหม่ ทำให้มีเลือดออกได้อีก ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรระงับอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อยๆ
  2. มะเร็งของลำไส้ใหญ่ ก็อาจทำให้มีอาการของริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น ถ้าพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลให้แน่นใจ
  3. อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง
มีอาการถ่ายเป็นเลือดนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรปรึกษาแพทย์

กลับสู่หน้าแรก
กลับสู่หน้าหลัก I ระบบทางเดินหายใจ I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I อุบัติเหตุ สารพิษ I ตรวจสอบอาการต่างๆ
1