โครงการวิจัยและพัฒนาการไว้ตออ้อย
อรรถสิทธิ์ บุญธรรม : ผู้ประสานงาน
อ้อยเป็นพืชไร่ที่ได้เปรียบพืชไร่ชนิดอื่นก็คือ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถไว้ตอต่อไปได้อีก 1-3 ปี ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี การที่อ้อยจะสามารถไว้ตอได้นานโดยที่ผลผลิตอ้อยยังคงระดับไม่ต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่ ย่อมทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิสูงสุด อีกทั้งโดยทั่วไปอ้อยตอมักจะมีคุณภาพความหวานสูงกว่าอ้อยปลูก ทั้งนี้เนื่องมาจากอ้อยตอมีอายุเจริญเติบโตที่มากกว่า แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ชาวไร่อ้อยโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญในการดูแลรักษาอ้อยตอน้อยมาก จึงทำให้ผลผลิตอ้อยตอบางพื้นที่ไม่ถึง 10 ตัน/ไร่ เช่น แหล่งปลูกอ้อยตอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุที่ทำให้อ้อยตอมีกอตายมากแล้วทำให้ผลผลิตอ้อยตอต่ำมีอยู่ด้วยกันหลายประการ คือ
ฤดูฝนมาล่าช้า ปริมาณน้ำฝนตลอดปีมีน้อย ไม่มีน้ำชลประทานทำให้อ้อยขาดน้ำ
ปัญหาโรค และแมลงในอ้อยตอได้แก่ โรคใบขาว โรคกอตะไคร้ ปลวก ด้วงหนวดยาว
ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง
ไฟไหม้อ้อยตอเสียหาย วัชพืชขึ้นมาก
ขาดการบำรุงดูแลอ้อยตอที่ดี ปล่อยให้วัชพืชขึ้นมาก ให้ปุ๋ยไม่เพียงพอหรือให้ไม่ถูกจังหวะ คือ หลังจากให้ปุ๋ยแล้วฝนทิ้งช่วง
จากสาเหตุเหล่านี้เองที่ทำให้ผลผลิตอ้อยต่ำ อ้อยตอมีกอตายมาก ต้องรื้อแปลงปลูกใหม่บ่อย ๆ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้ดำเนินงานวิจัยโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2538 โดยมีรายงานความก้าวหน้าผลงานวิจัยดังต่อไปนี้
ปรับปรุงผลผลิต
ผลของการใส่ปุ๋ยเคมีปลายฤดูฝนในอ้อยปลูกที่มีต่อการไว้ตอของอ้อย
เปรียบเทียบผลของการใช้ปุ๋ยเคมีปลายฤดูฝน (21 กันยายน 2538) ที่มีต่อการไว้ตอของอ้อย ผลการทดลองในอ้อยปลูกพันธุ์อู่ทอง 2 พบว่า การใส่ปุ๋ยเคมีปลายฤดูฝนมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อยปลูกที่เก็บเกี่ยวเดือน กุมภาพันธ์ และมีนาคม แต่ไม่มีผลในอ้อยปลูกที่เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-มกราคม การใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนมีแนวโน้มจะช่วยทำให้อ้อยมีการไว้ตอดีขึ้น คือ มีจำนวนหน่อของอ้อยตอที่งอกมาใหม่มากกว่าอ้อยที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ถึงแม้จะไม่แตกต่างทางสถิติก็ตาม ความสูงของอ้อยตอ 1 ที่มีการใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนมีแนวโน้มมากกว่าอ้อยตอที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะอ้อยที่เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายนที่ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปลายฤดูฝน อัตรา 50, 100 และ 150 กก./ไร่ อ้อยตอมีความสูง (หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยปลูก 4 เดือน) 28.7, 32.9 และ 32.4 ซม. ในขณะที่อ้อยตอที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนมีความสูง 29.7 ซม. จากการวิเคราะห์ไนโตรเจนในหน่ออ้อยตอที่งอก 2-3 เดือน พบว่า เมื่อเพิ่มอัตราปุ๋ยที่ใส่ปลายฤดูฝน เปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนในหน่ออ้อยของอ้อยตอจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในอ้อยที่ใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝน อัตรา 150 กก./ไร่ และเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน มีเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนในหน่อสูงกว่าหน่ออ้อยที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ศักยภาพการให้ผลผลิตของอ้อย 4 พันธุ์ ในสภาพการให้น้ำชลประทาน (อ้อยตอ 1)
ผลการศึกษาศักยภาพของผลผลิตของพันธุ์อ้อย 4 พันธุ์ ในสภาพที่มีการให้น้ำชลประทานในอ้อยปลูก พบว่า อ้อยพันธุ์ อู่ทอง 1 ให้ผลผลิตสูงที่สุด (23 ตัน /ไร่) รองลงมาคือ โคลนพันธุ์ 90-1, K 84-200 และ อู่ทอง 2 ตามลำดับ สำหรับการทดลองในปี พ.ศ. 2538 เป็นการศึกษาในอ้อยตอ 1 ผลการทดลองไม่พบความแตกต่างทางสถิติในลักษณะการให้ผลผลิต โดยอ้อยพันธุ์ 90-1 ให้ผลผลิตได้สูงที่สุด คือ 13 ตัน/ไร่ รองลงมาคือ K 84-200 (12.4 ตัน/ไร่) อู่ทอง 1 (12.1 ตัน/ไร่) และ อู่ทอง 2 (9.7 ตัน/ต่อไร่) ผลผลิตของอ้อยทุกพันธุ์เมื่อเป็นอ้อยตอลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตของอ้อยปลูก ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของผลผลิตก็คือ ลักษณะจำนวนลำต่อไร่ที่ลดลง
อิทธิพลของการให้น้ำหลังการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการไว้ตออ้อยพันธุ์ต่าง ๆ (อ้อยตอ 2)
การศึกษาผลของการให้น้ำหลังการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการไว้ตออ้อยพันธุ์ต่าง ๆ ได้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี การทดลองในปี พ.ศ. 2538 เป็นผลการทดลองในอ้อยตอ 2 ผลการทดลอง พบว่า การให้น้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยมีแนวโน้มว่า ช่วยให้อ้อยมีการไว้ตอได้ดีขึ้น พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์มีลักษณะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน จึงมีการตอบสนองต่อกรรมวิธีการให้น้ำที่แตกต่างกัน อ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงแรก ดังนั้น การให้น้ำทันทีหลังการเก็บเกี่ยวจะช่วยให้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 มีการเจริญเติบโตดีกว่าการให้น้ำที่ 1 เดือนหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย ในทางตรงกันข้ามอ้อยพันธุ์อู่ทอง 2 ซึ่งมีการเจริญเติบโตในช่วงแรกช้ากว่าพันธุ์อื่น ๆ การให้น้ำช่วง 1 เดือนหลังการเก็บเกี่ยวมีแนวโน้มทำให้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 2 ให้ผลผลิตได้ดีที่สุด
ผลของการอนุรักษ์ดินโดยการไม่เผาเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ในการเพิ่มผลผลิตอ้อยตอ
จากการทดลองเปรียบเทียบผลของการเผาและไม่เผาเศษซากอ้อยร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 และ 15-15-15 ในอ้อยตอ 1 พันธุ์อู่ทอง 2 จำนวน 2 แปลงทดลอง ผลการทดลองในแปลงที่ 1 พบว่า อ้อยที่ปลูกในดินที่ไม่มีการเผาเศษซากอ้อ มีผลผลิตน้ำหนักสูงกว่าอ้อยที่ปลูกในดินที่มีการเผาเศษซากอ้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ มีผลผลิตเฉลี่ย 16.3 ตัน/ไร่ ในขณะที่อ้อยที่มีการเผาเศษซากอ้อยมีผลผลิตเฉลี่ย 14.1 ตัน/ไร่ ผลการทดลองสอดคล้องเหมือนกับการทดลองอีกแปลงหนึ่งคือ ผลผลิตของอ้อยที่ไม่มีการเผาเศษซากอ้อย (เฉลี่ย 20.9 ตัน/ไร่) สูงกว่าอ้อยที่มีการเผาเศษซากอ้อย (เฉลี่ย 17.2 ตัน/ไร่) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านคุณภาพความหวานของอ้อยที่ปลูกในสภาพทีมีการเผาและไม่เผาเศษซากอ้อยใกล้เคียงกัน คือ มีค่า CCS ไม่แตกต่างทางสถิติ เมื่อคำนวณเป็นผลผลิตน้ำตาลตันCCS ต่อไร่ พบว่า อ้อยที่ปลูกในดินที่ไม่มีการเผาเศษซากอ้อยมีน้ำตาลตัน CCS ต่อไร่ สูงกว่าอ้อยที่ปลูกในดินที่มีการเผาเศษซากอ้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผลผลิตของอ้อยที่ใช้ปุ๋ย 2 สูตรไม่แตกต่างทางสถิติ เหมือนกันทั้ง 2 แปลงทดลอง ในแปลงทดลองที่มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า (แปลงที่ 2) อ้อยที่ใช้ปุ๋ยเคมีมีผลผลิตสูงกว่าอ้อยที่ไม่ใช้ปุ๋ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในอ้อยที่ปลูกในดินที่มีการเผาใบและเศษซากอ้อย
การศึกษาวิธีการปลูกซ่อมอ้อยตอ
จากการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการปลูกซ่อมอ้อยตอ 5 กรรมวิธี ประกอบด้วย 1) ใช้ท่อนพันธุ์ปลูกซ่อม มีการรดน้ำ 2) ใช้แยกหน่อซ่อม มีการรดน้ำ 3) ใช้แยกหน่อซ่อม อาศัยน้ำฝน 4) ใช้ท่อนพันธุ์ปลูกซ่อม อาศัยน้ำฝน และ 5) ไม่มีการปลูกซ่อม ผลการทดลองในอ้อยตอ 2 พันธุ์อู่ทอง 1 พบว่า การปลูกซ่อมอ้อยโดยการแยกหน่อซ่อมมีเปอร์เซ็นต์กออยู่รอดสูงกว่าการปลูกซ่อมโดยใช้ท่อนพันธุ์ โดยเฉพาะที่มีการรดน้ำมีกออยู่รอด 96.9 % ในขณะที่อ้อยที่ปลูกซ่อมโดยใช้ท่อนพันธุ์อาศัยน้ำฝนมีกออยู่รอด 40.6 % เมื่อเก็บเกี่ยวอ้อย พบว่า ผลผลิตของอ้อยทั้ง 5 กรรมวิธี ไม่แตกต่างทางสถิติ แต่เมื่อแยกตรวจนับ องค์ประกอบผลผลิต ผลผลิตน้ำหนัก และ CCS ของอ้อยที่ปลูกซ่อมทั้ง 4 กรรมวิธี พบว่า จำนวนปล้อง/ลำ จำนวนลำเก็บเกี่ยว ผลผลิตน้ำหนัก และ ค่า CCS ของอ้อยที่ปลูกซ่อมแบบใช้แยกหน่อซ่อมสูงกว่าการปลูกซ่อมโดยการใช้ท่อนพันธุ์ เหมือนทั้งในอ้อยที่ปลูกซ่อมที่มีการให้น้ำและอาศัยน้ำฝน คือ ในอ้อยตอ 2 ที่มีกอขาดหายไป 20 % การปลูกซ่อมอ้อยโดยการใช้แยกหน่อซ่อมที่มีการให้น้ำ และอาศัยน้ำฝนทำให้ผลผลิตน้ำหนักอ้อยเพิ่มขึ้นจากการปลูกซ่อม 1,149 และ 689 กก./ไร่ ตามลำดับ ในขณะที่อ้อยที่ปลูกซ่อมโดยใช้ท่อนพันธุ์ ทั้งที่ให้น้ำและอาศัยน้ำฝน มีผลผลิตน้ำหนักอ้อยเพิ่มขึ้นจากการปลูกซ่อม 223 และ 386 กก./ไร่ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อ้อยที่ปลูกซ่อมทุกวิธีการมีการเจริญเติบโต และการแตกกอน้อยกว่า อ้อยตอ ส่วนค่า CCS ของอ้อยที่ปลูกซ่อมโดยการแยกหน่อ (ให้น้ำและอาศัยน้ำฝน) เฉลี่ย 13.1 และ 12.9 ตามลำดับ และอ้อยที่ปลูกโดยการใช้ท่อนพันธุ์ (ให้น้ำและอาศัยน้ำฝน) มีค่า CCS เฉลี่ย 8.9 และ 9.5 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การปลูกซ่อมโดยวิธีแยกหน่อดีกว่าการใช้ท่อนพันธุ์เพราะว่า อ้อยที่ปลูกซ่อมสามารถเจริญเติบโตทันกับอ้อยข้างเคียง ไม่ถูกบังแสงแดด ทำให้ได้ลำอ้อยที่มีน้ำหนัก และคุณภาพความหวานดีกว่าอ้อยที่ปลูกด้วยท่อนพันธุ์ การปลูกซ่อมอ้อยโดยใช้ท่อนพันธุ์ ถ้าปลูกล่าช้าจะทำให้อ้อยตอข้างเคียงบังแสง จึงควรมีการศึกษาเวลาที่เหมาะสมของการปลูกซ่อมอ้อยโดยใช้ท่อนพันธุ์
การศึกษาถึงความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างคุณสมบัติของดินและการผลิตอ้อย (อ้อยตอ 4)
การทดลองศึกษาวิธีการปลูกอ้อย 2 แบบ คือ ปลูกอ้อยอย่างเดียว และปลูกอ้อยแซมด้วยถั่วเขียว ศึกษาร่วมกับการใส่ปุ๋ย 5 อัตรา คือ 0-0-0, 12-0-0, 12-12-0, 12-12-12 และ 24-0-0 ของ N-P2O5-K2O กก./ไร่ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในอ้อยตอ 4 ผลการทดลองพบว่า วิธีการปลูกทั้ง 2 แบบ ให้ผลผลิตอ้อยไม่แตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มว่า อ้อยที่ปลูกแซมด้วยถั่วเขียวให้ผลผลิตมากกว่า คือ มีผลผลิตอ้อย เฉลี่ย 14.2 ตัน/ไร่ ในขณะที่ปลูกอ้อยอย่างเดียวให้ผลผลิตเฉลี่ย 13.3 ตันต่อไร่ ผลผลิตของอ้อยที่ใส่ปุ๋ย 5 อัตรา ไม่แตกต่างทางสถิติ แต่มีแนวโน้มว่า การใช้ปุ๋ยอัตรา 12-12-12 และ 24-0-0 ให้ผลผลิตน้ำหนักอ้อยสูงกว่าคือ 15.9 และ 14.6 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ในขณะที่อ้อยที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยมีผลผลิต 11.9 ตัน/ไร่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากที่อ้อยที่ใช้ปุ๋ย 12-12-12 และ 24-0-0 ของ N-P2O5-K2O กก./ไร่ มีการแตกกอดีให้จำนวนลำเก็บเกี่ยวสูงกว่าอ้อยที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ย และอ้อยที่ใช้ปุ๋ยอัตรา 12-0-0 ของ N-P2O5-K2O กก./ไร่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อ้อยที่ใช้ปุ๋ย 12-12-12 และ 24-0-0 ของ N-P2O5-K2O ของ N-P2O5-K2O กก./ไร่ มีจำนวนเก็บเกี่ยว 12,587 และ 12,062 ลำ/ไร่ ตามลำดับ ในขณะที่อ้อยไม่ได้ใช้ปุ๋ยและใช้ปุ๋ยอัตรา 12-0-0 ของ N-P2O5-K2O กก./ไร่ มีจำนวนลำเก็บเกี่ยว 10,160 และ 9,369 ลำ/ไร่ ตามลำดับ กล่าวโดยสรุปได้ว่า การปลูกถั่วเขียวแซมอ้อยช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ในระยะยาว โดยจะเห็นว่า ในอ้อยปี 4 มีแนวโน้มว่า ผลผลิตของอ้อยที่มีการปลูกถั่วเขียวแซมมากกว่าการปลูกอ้อยอย่างเดียว เมื่อเทียบกับผลในอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1-3 มีแนวโน้มว่า อ้อยที่ปลูกอย่างเดียวให้ผลผลิตสูงกว่าอ้อยที่ปลูกถั่วเขียวแซม นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ย P และ K ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยในระยะยาว โดยดูได้จากที่ผลผลิตของอ้อยที่ใช้ปุ๋ยอัตรา 12-0-0 และ N-P2O5-K2O กก./ไร่ ในอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1-3 พบว่า ผลผลิตของอ้อยที่ใช้ P และ K ร่วมใกล้เคียงกัน แต่ในอ้อยตอ 4 มีแนวโน้มว่า อ้อยที่ใช้ P และ K ร่วมด้วย ให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ N อย่างเดียวที่อัตราของปุ๋ย 12 กก.N/ไร่
สรุปผลของโครงการ
การใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปลายฤดูฝน ไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตในอ้อยปลูกที่เก็บเกี่ยวต้นฤดูหีบ (พฤศจิกายน-มกราคม) แต่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อยปลูกที่เก็บเกี่ยวปลายฤดูหีบ (กุมภาพันธ์-มีนาคม) มีแนวโน้มว่า อ้อยตอที่มีการใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนในอ้อยปลูกแล้วเก็บเกี่ยวอ้อยปลูกในเดือนพฤศจิกายน มีการเจริญเติบโตดีกว่าอ้อยที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย และพบว่าหน่ออ้อยตอที่ใช้ปุ๋ยปลายฤดูฝนในอ้อยปลูกมีเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงกว่าอ้อยที่ไม่ใส่ปุ๋ย
อ้อยพันธุ์ 90-1 ให้ผลผลิตอ้อยตอ 1 สูงกว่า K 84-200, อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 อ้อยทุกพันธุ์เมื่อเป็นอ้อยตอจะมีผลผลิตลดลง
การให้น้ำทันทีถึง 1 เดือนหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย มีแนวโน้มช่วยให้อ้อยมีการไว้ตอดีขึ้น อย่างไรก็ตามอ้อยแต่ละพันธุ์มีการเจริญเติบโตแต่ละช่วงแตกต่างกัน จึงทำให้อ้อยมีการตอบสนองต่อการให้น้ำแตกต่างกัน
อ้อยที่ปลูกในดินที่ไม่มีการเผาเศษซากอ้อยมีผลผลิตน้ำหนักอ้อยตอ 1 สูงกว่าอ้อยที่ปลูกในดินที่มีการเผาเศษซากอ้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต
การปลูกซ่อมอ้อยตอโดยแยกหน่อซ่อมมีเปอร์เซ็นต์กออยู่รอด และการเจริญเติบโตดีกว่าใช้ท่อนพันธุ์ปลูกซ่อม แต่ต้องมีการรดน้ำช่วย อย่างไรก็ตามอ้อยที่ปลูกซ่อมทุกวิธีการมีการเจริญเติบโตและมีการแตกกอน้อยกว่าอ้อยตอ
มีแนวโน้มว่าการปลูกถั่วเขียวแซมอ้อยช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยในตอในปีท้ายๆ
อ้อยที่ปลูกในดินที่มีการอนุรักษ์ดินโดยการไม่เผาเศษซากอ้อย ช่วยให้อ้อยมีการไว้ตอดี ให้ผลผลิตอ้อยตอสูงกว่าอ้อยที่ปลูกในดินที่มีการเผาทำลายอินทรียวัตถุ
โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย
[HOME]
[ศูนย์วิจัยฯ]
[การไว้ตอฯ]
[สภาพท้องถิ่น]
[โรคแส้ดำ]
[คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน]
[สภาพดินเค็ม]
[อ้อยทนแล้ง]
[คุณภาพท่อนพันธุ์]
[อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง
[โรคราที่เมล็ด]
[การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น
[พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by
Get your own Free Home Page