โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตอ้อยเพื่อปลูกในสภาพดินเค็ม
ปรีชา พราหมณีย์ : ผู้ประสานงาน


แหล่งปลูกอ้อยภาคตะวันตก เป็นแหล่งปลูกอ้อยสำคัญที่ผลิตอ้อยได้มากกว่าร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ในปัจจุบันพื้นที่ในเขตนี้กำลังประสบปัญหาดินเค็ม ซึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี อ้อยที่ปลูกในสภาพพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ทางศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้รับคำสอบถามถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขจากเกษตรกรตลอดเวลา จึงได้ตั้งโครงการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบของดินเค็มต่อการปลูกอ้อยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาข้อมูลผลกระทบของดินเค็มต่อการปลูกอ้อย เช่น ระดับของดินเค็มที่จะกระทบต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของอ้อย หาพันธุ์อ้อยที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตในสภาพดินเค็มได้ และหาแนวทางแก้ไขโดยใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล และวัสดุที่มีรายงานว่าสามารถลดความเป็นพิษของดินเค็มได้ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยมีผลการทดลองในปี 2538 สรุปได้ดังนี้

ด้านพืชศาสตร์

การเปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์อ้อยทนเค็ม : อ้อยตอ 1 ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีในแปลงดินเค็ม ทำการตัดแต่งตออ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยตอเมื่ออ้อยตออายุ 12 เดือน ผลการทดลองพบว่า อ้อยโคลนพันธุ์ UT 8-1 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด 9.4 ตัน ค่า CCS 9.63 และโคลนพันธุ์ UT 1-7-2 ให้ผลผลิตรองลงมา 7.4 ตัน ค่า CCS 10.12


ปรับปรุงการผลผลิต

การตอบสนองของอ้อยพันธุ์ต่างๆ ในสภาพดินเค็ม (อ้อยตอ 1) การศึกษานี้เป็นการศึกษาในอ้อยตอ 1 ผลการทดลองพบว่า อ้อยทั้ง 12 โคลนพันธุ์ ที่นำมาศึกษา มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้าในสภาพดินเค็ม ซึ่งผลการทดลองสอดคล้องกับในระยะที่เป็นอ้อยปลูก ปัญหาความแปรปรวนในเรื่องความเค็มของดินในแต่ละพื้นที่ มีผลกระทบต่อผลการทดลองที่ดำเนินการ โดยทั่วไปอ้อยที่ปลูกในดินเค็มจะมีจำนวนลำต่อกอน้อย มีข้อถี่และปล้องสั้นกว่าอ้อยในสภาพปกติ การจะคัดเลือกพันธุ์ทนเค็ม โดยการใช้ลักษณะทางสรีรวิทยามีแนวทางเป็นไปได้ โดยการใช้ค่าความสัมพันธ์ระหว่าง leaf water potential และค่า relative water content กล่าวคือ พันธุ์ที่ทนทานดินเค็มจะมีค่า relative water content สูงกว่าพันธุ์ที่ไม่ทนทานดินเค็มในระดับ leaf water potential เดียวกัน

อิทธิพลของระดับความเค็มต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของอ้อย ทำการศึกษาอิทธิพลของความเค็มระดับต่าง ๆ ต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอ้อย โดยเริ่มงานทดลองในปี 2537 พบว่า ในดินที่มีความเค็มเกิน 4.0 % (8 mmho/cm) ความงอกของอ้อยจะลดลงเกินกว่า 50 % ซึ่งถือเป็นระดับวิกฤตที่ไม่ควรปลูกอ้อย การทดลองที่รายงานนี้เป็นการทดลองเพื่อยีนยันผลการทดลองในปี 2537 ซึ่งผลการทดลอง พบว่าผลผลิตอ้อยจะลดลงตามระดับความเค็มที่เพิ่มขึ้นความเค็มระดับ 2-4 mmho/cm อ้อยยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับแปลงปกติ แต่ความเค็มเกิน 8 mmho/cm ไม่ควรปลูกอ้อยเนื่องจากให้ผลผลิตต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของอ้อยที่ปลูกในดินปกติ

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตรากากตะกอนอ้อย (flter cake) กากชานอ้อย (bagasse) และระดับของดินเค็มในการลดปัญหาดินเค็ม ปรีชา และคณะ (2537) พบว่า การใช้ bagasse และ filter cake สามารถบรรเทาความเป็นพิษจากดินเค็ม (saline soil) ทำให้อ้อยเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ไม่ต่างจากการปลูกอ้อยในดินปกติ จึงควรศึกษาต่อไปถึงอัตราวัสดุดังกล่าว เพื่อให้เหมาะสมกับระดับของดินเค็ม และการให้ผลผลิตของอ้อย และเป็นการคืนอินทรียวัตถุกลับลงดินด้วย ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โดยวางแผนการทดลองแบบ 3 x 2 x 3 factorial โดยมีระดับความเค็ม 3 ระดับ และอินทรียวัตถุ 2 ชนิด คือ bagasse และ Filter cake อย่างละ 3 อัตรา โดยมีการปลูกอ้อยในดินปกติ และการปลูกอ้อยในดินเค็ม 0.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเปรียบเทียบผลการทดลองค่อนข้างแปรปรวน เนื่องจากมีฝนตกชุก เกลือถูกชะล้างออกจากดินมาก ความเค็มลดลง อย่างไรก็ตาม พบว่า การใช้ bagasse ได้ผลดีกว่า filter cake และเมื่อความเค็มเพิ่มขึ้น จะต้องใช้วัสดุทั้ง 2 อัตราที่สูงขึ้น จึงจะลดความเป็นพิษเนื่องจากดินเค็มได้

วิทยาการเมล็ดพันธุ์
โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ท่อนพันธุ์อ้อย และการผลิตขยายท่อนพันธุ์อ้อย

การศึกษาความงอกของอ้อยในสภาพดินเค็ม โดยวางแผนการทดลองในห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีตั้งแต่ปี 2537 โดยวางแผนการทดลองแบบ 4 x 7 factorial in CRD มี 4 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 คือ อ้อย 4 พันธุ์ ได้แก่ F 140, K 84-200, อู่ทอง 1, และ อู่ทอง 2 ปัจจัยที่ 2 คือ เป็นปริมาณเกลือ NaCl อัตรา 0, 0.2, 0.4, 0.6, 0.8, 1.0 และ 1.2 % w/w ผลการทดลองในปี 2538 เป็นการทดลองซ้ำเพื่อทดสอบความคงที่ของการทดลอง (consistency) ในปี 2537 พบว่า พันธุ์ K 84-200 มีความทนเค็มได้สูงสุด รองลงมาคือ อู่ทอง 1, F 140 และ อู่ทอง 2 ในปี 2538 พบว่า พันธุ์ K 84-200 ยังคงมีการผันแปรในการทนเค็มของพันธุ์อ้อยเล็กน้อย


โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]

รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by Get your own Free Home Page
1