โครงการวิจัยและพัฒนาอ้อยเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น
จักรินทร์ ศรัทธาพร ผู้ประสานงาน


โครงการวิจัยและพัฒนาอ้อยเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาให้ได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมที่จะปลูกในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการจัดการต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูก การดูแลรักษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ในปี 2538 มีงานวิจัยในโครงการรวม 20 ทะเบียนวิจัย ประกอบด้วยงานพืชศาสตร์ 16 ทะเบียนวิจัย ปรับปรุงการผลิต 3 ทะเบียนวิจัย และอารักขาพืช 1 ทะเบียนวิจัย


งานพืชศาสตร์

การทดสอบพันธุ์อ้อยในไร่กสิกรเพื่อผลผลิต : อ้อยตอ 1

ทำการทดสอบพันธุ์อ้อย clone 84-2-646, 88-2-070, 88-2-178, 88-2-437, 89-2-366 ร่วมกับพันธุ์ อู่ทอง 1, อู่ทอง 2 และพันธุ์ของเกษตรกร ดำเนินการในไร่กสิกร 3 แห่ง คือ ไร่กสิกร กิ่ง อ.วังม่วง จ.สระบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ผลการทดสอบปรากฏว่า clone 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ รวมทั้งปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงที่สุดในทั้ง 3 แห่ง โดยให้น้ำหนักอ้อย 14.14 ตัน/ไร่ และน้ำตาล 2.10 ตัน/ไร่ ที่ จ.สระบุรี น้ำหนักอ้อย 15.98 ตัน/ไร่ และน้ำตาล 2.43 ตัน/ไร่ ที่ จ.กาญจนบุรี ส่วนที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี clone 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อย 21.76 ตัน/ไร่ และน้ำตาล 3.45 ตัน/ไร่

การทดสอบพันธุ์อ้อยในไร่เกษตรกรเขตตะวันตก

ได้ทำการทดสอบพันธุ์อ้อย clone ดีเด่น จำนวน 4 clone คือ clone 85-2-072, 85-2-207, 84-2-598, และ 84-2-606 ร่วมกับพันธุ์เปรียบ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1 และ อู่ทอง 2 ดำเนินการในไร่กสิกรที่สามารถให้น้ำชลประทานได้ ผลการทดสอบพบว่า clone 84-2-598 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุดคือ 19.90 ตัน/ไร่ ที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สุงสุดด้วย คือ 3.19 ตัน/ไร่ ส่วนที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พบว่า clone 85-2-072 และ 85-2-207 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ 23.50 และ 22.40 ตัน/ไร่ ตามลำดับ อ้อยทั้ง 2 clone นอกจากจะให้ผลผลิตสูงกว่า clone อื่น และพันธุ์เปรียบเทียบแล้ว ยังให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงกว่าด้วย โดยมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 ประมาณ 60% และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 ประมาณ 15%

การทดสอบพันธุ์อ้อยในไร่กสิกรเพื่อผลผลิต : อ้อยปลูก

ทำการทดสอบพันธุ์อ้อย clone 88-2-471, 88-2-489, 89-2-365 และ 89-2-366 ร่วมกับพันธุ์ตรวจสอบ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1 และ อู่ทอง 2 ในไร่กสิกร 3 แห่ง คือ ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย และ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผลการทดสอบที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี พบว่า clone 88-2-471 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด โดยให้น้ำหนักอ้อย 22.74 ตัน/ไร่ และน้ำตาล 3.04 ตัน/ไร่ ส่วน clone 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อย 21.53 ตัน/ไร่ และน้ำตาล 2.98 ตัน/ไร่ สำหรับที่ อ.ด่านมะขามเตี้ยพบว่า clone 89-2-365 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ได้สูงสุด คือ 14.21 ตัน/ไร่ แต่ให้น้ำตาล 1.57 ตัน/ไร่ สูงเป็นอันดับสองรองจากพันธุ์อู่ทอง 1 ซึ่งให้น้ำตาล 1.72 ตัน/ไร่ ส่วนที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผลการทดสอบพบว่า clone 88-3-489 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุดคือได้ 11.79 ตัน/ไร่ และยังได้น้ำตาลต่อไร่สูงสุดคือ 1.52 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 88-2-471 ซึ่งให้น้ำหนักอ้อย 11.10 ตัน/ไร่ และให้น้ำตาล 1.40 ตัน/ไร<่/H5>

การทดสอบพันธุ์อ้อยเพื่อการขยายพันธุ์ : อ้อยพันธุ์ดีเด่น

เป็นการนำพันธุอ้อยพันธุ์ดีเด่นมาทำการปลูก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพันธุ์สำหรับใช้ในงานเปรียบเทียบพันธุ์ ในสภาพชุดดินต่าง ๆ กัน ในเขตตะวันตกที่จะดำเนินการในปี 2539 พันธุ์ที่นำมาปลูกได้แก่ clone 84-2-606, 84-2-598, 85-2-072, 85-2-207, 85-2-352, 85-2-209, อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 ปลูกในพื้นที่ 100 ตารางเมตรต่อ 1 พันธุ์ ผลจากการปลูกขยายพันธุ์ทำให้สามารถผลิตท่อนพันธุ์ได้เพียงพอที่จะใช้ปลูกในงานทดลองได้ 4 แปลงทดลอง


การทดสอบพันธุ์อ้อยเพื่อการขยายพันธุ์ : อ้อยพันธุ์นำเข้า

เป็นการนำพันธุ์อ้อยพันธุ์นำเข้าจาก Mauritius จำนวน 8 พันธุ์ คือ R1, R2, R4, R5, R6, M1, M2, และ M3 มาทำการปลูก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพันธุ์สำหรับใช้ในงานเปรียบเทียบพันธุ์ในสภาพชุดดินต่าง ๆ กันในเขตตะวันตกที่จะดำเนินการในปี 2539 โดยปลูกในพื้นที่ 100 ตารางเมตรต่อ 1 พันธุ์ ผลจากการขยายทำให้สามารถผลิตท่อนพันธุ์ได้เพียงพอที่จะใช้ปลูกในงานทดลองได้ 4 แปลงทดลอง


การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นเพื่อผลผลิตชุด 1988 : อ้อยตอ 2

การทดลองเป็นการดำเนินงานต่อจากอ้อยตอ 1 ในไร่กสิกร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีอ้อยที่ใช้ทดลอง 11 clone โดยมีพันธุ์อู่ทอง 1 และ อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดลองพบว่าพันธุ์ K 84-200 ให้ผลผลิตสูงสุดได้ 15.74 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ พันธุ์อู่ทอง 1 และ 89-2-366 ได้ 15.22 และ 13.53 ตัน/ไร่ ตามลำดับ ส่วนค่า ซี.ซี.เอส. พบว่า มีความแตกต่างกันทางสถิติโดยที่ clone 87-2-633 ให้ค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ มีค่า 15.61 รองลงมาคือ 89-2-366 และ 88-2-437 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.20 และ 14.88 ตามลำดับ สำหรับปริมาณน้ำตาลจากการคำนวณพบว่าพันธุ์ K 84-200 ได้น้ำตาลต่อไร่สูงสุด คือ 2.30 ตันต่อไร่ รองลงไปคือ clone 89-2-366 และพันธุ์อู่ทอง 1 ได้น้ำตาล 2.06 และ 2.01 ตัน/ไร่ ตามลำดับ


การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นเพื่อผลผลิตชุด 1988-1 : อ้อยตอ 1

การทดลองดำเนินการต่อจากอ้อยปลูก ในไร่กสิกร อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และไร่กสิกร จ.ระยอง อ้อยที่ใช้ทดลองมี 8 clone โดยมีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดลองที่ไร่กสิกร จ.นครปฐม ในสภาพดินร่วน พบว่า ผลผลิต และค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อยมีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยที่ clone 89-2-407 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุดได้ 14.54 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 88-3-489 และ 88-2-196 ตามลำดับ แต่เมื่อคำนวณปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้ว พบว่า clone 88-3-489 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุดคือ 2.12 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 89-2-407 และ 88-2-196 ตามลำดับ
สำหรับที่ไร่กสิกร จ.อุทัยธานี ในสภาพดินร่วนทรายพบว่า ผลผลิตของอ้อยไม่แตกต่างกัน แต่ค่า ซี.ซี.เอส. มีความแตกต่างกันทางสถิติ จึงปรากฏว่า clone 89-2-366 เป็น clone ที่ให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด ได้ 2.47 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ 89-2-407 และ 85-3-489 ได้น้ำตาล 2.33 และ 2.08 ตัน/ไร่ ตามลำดับ
ส่วนที่ไร่กสิกร จ.เพชรบุรี ในสภาพดินร่วนทราย พบว่า ผลผลิตของอ้อยไม่แตกต่างกันแต่ค่า ซี.ซี.เอส. มีความแตกต่างกัน clone ที่ให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุดคือ 89-2-407 และ 85-2-196 มีน้ำตาลต่อไร่เท่ากันคือ 1.56 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 88-2-471 มีน้ำตาล 1.51 ตัน/ไร่

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นเพื่อผลผลิตชุด 1989 : อ้อยปลูก

ทำการทดลองในไร่กสิกร อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อ้อยที่ใช้ทดลองมี 9 clone และมีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดลองที่ จ.กาญจนบุรี พบว่า ทั้งผลผลิตและค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อยมีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุด คือ clone 89-2-366 ได้ 14.52 ตัน/ไร่ อันดับรองคือ 89-2-481 ได้ 13.76 ตัน/ไร่ clone ที่ให้ค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ clone 89-2-208 และพันธุ์อู่ทอง 2 มีค่า ซี.ซี.เอส. 16.22 เท่ากัน เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้ว พบว่า clone 89-2-208 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุดได้ 2.19 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ 89-2-481 มีน้ำตาล 2.17 ตัน/ไร่ ที่ไร่กสิกร จ.ราชบุรี ผลผลิต และค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อยไม่มีความแตกต่างกัน clone 89-2-366 ให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุดได้ 1.55 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ พันธุ์อู่ทอง 1 มีน้ำตาล 1.52 ตัน/ไร่
ที่ จ.สุพรรณบุรี พบว่า ผลผลิตของอ้อยไม่มีความแตกต่างกัน แต่ค่า ซี.ซี.เอส. มีความแตกต่างกันทางสถิติ พันธุ์อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ที่มีค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ 16.68 และให้ปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุดด้วย คือ ได้ 2.01 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 89-2-365 มีน้ำตาล 1.87 ตัน/ไร่

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นเขตตะวันตก : อ้อยพันธุ์ดีเด่น

ทำการทดลองที่ไร่กสิกร 4 แห่ง คือที่อ.บ่อพลอย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ้อยชุดพันธุ์ดีเด่นที่ใช้ทดลองมี 7 clone ร่วมกับพันธุ์เปรียบเทียบพันธุ์อู่ทอง 1 อู่ทอง 2 และ clone 89-2-366 ผลการทดลองที่ อ.บ่อพลอย และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พบว่า พันธุ์อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุดในทั้ง 2 แห่ง ที่ อ.บ่อพลอย ได้น้ำหนักอ้อย 10.10 ตัน/ไร่ ได้น้ำตาล 1.66 ตัน/ไร่ ที่ อ.ท่าม่วง ได้น้ำหนักอ้อย 7.80 ตัน/ไร่ ได้น้ำตาล 1.14 ตัน/ไร่
ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี clone 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุดโดยได้น้ำหนักอ้อย 13.40 ตัน/ไร่ ได้น้ำตาล 1.94 ตัน/ไร่
ที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี clone 89 SR 593 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุด ได้ 15.70 ตัน/ไร่ แต่เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลแล้วกลับพบว่า clone 89-2-366 เป็น clone ที่ให้น้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด คือ ได้ 2.14 ตัน/ไร่ อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมพบว่า clone 89 SR 593 เป็น clone เดียวที่สามารถให้ผลผลิตได้สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 โดยสูงกว่าประมาณ 2%

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นเขตตะวันตก : อ้อยพันธุ์นำเข้า

ทำการทดลองในไร่กสิกร 4 แห่ง คือ อ.บ่อพลอย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี พันธุ์อ้อยที่ใช้ทดลอง คือ R1, R2, R4, R5, R6, M1, M2, M3 ร่วมกับพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 ผลการทดลองที่ อ.บ่อพลอย พบว่า พันธุ์ M1 ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่สูงสุด ได้ 12.50 ตัน/ไร่ แต่เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้วกลับพบว่า พันธุ์อู่ทอง 1 เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำตาลต่อไร่สูงสุด ได้ 1.53 ตัน/ไร่ ส่วนที่ อ.ท่าม่วง ผลการทดลอง พบว่า พันธุ์อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด โดยได้น้ำหนักอ้อย 11.20 ตัน/ไร่ และได้น้ำตาล 1.61 ตัน/ไร่
ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี พันธุ์ R6 เป็นพันธุ์ที่ให้ทั้งน้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด คือ ให้น้ำหนักอ้อย 13.40 ตัน/ไร่ และมีน้ำตาล 2.00 ตัน/ไร่ ส่วนที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ผลการทดลองพบว่า พันธุ์ M3 เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุด โดยให้น้ำหนักอ้อย 24.70 ตัน/ไร่ และมีน้ำตาล 2.29 ตัน/ไร่
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมแล้ว พบว่า พันธุ์ R2, R6 และ M3 เป็นพันธุ์ที่สามารถให้ผลผลิตได้สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 โดยสูงกว่าประมาณ 13-14%

การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อยเพื่อผลผลิตชุด 1989 : อ้อยตอ 2

การทดลองดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง อ้อยที่ใช้เปรียบเทียบมี 16 clone โดยมีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี พบว่า ผลผลิต และค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อย มีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อย 16.89 ตัน/ไร่ รองลงมา คือ 88-3-489 clone ที่ให้ค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ 88-2-124 ให้ค่าซี.ซี.เอส. 15.57 รองลงไป คือ พันธุ์อู่ทอง 2 มีค่า ซี.ซี.เอส. 14.99 สำหรับปริมาณน้ำตาลต่อไร่ พบว่า clone 89-2-366 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุด คือ 2.24 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 89-2-518 มีน้ำตาล 1.84 ตัน/ไร่
ที่สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง การทดลอง พบว่า clone ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ 89-2-365 ให้น้ำหนักอ้อย 15.11 ตัน/ไร่ รองลงไป 88-3-489 ได้ 14.76 ตัน/ไร่ และพบว่าพันธุ์อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ที่มีค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ 17.51 รองลงไป คือ clone 88-2-023 มีค่า ซี.ซี เอส. 17.45 และเมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้ว พบว่า clone 89-2-365 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุด คือ 2.45 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 88-3-489 มีน้ำตาล 2.26 ตัน/ไร่

การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อยชุด 1989-1 : อ้อยตอ 1

ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ้อยที่ใช้เปรียบเทียบมี 12 clone โดยมีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดลองพบว่า ทั่งผลผลิต และค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อยมีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ 89-2-366 ให้น้ำหนักอ้อย 14.40 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ 89-2-481 ให้น้ำหนักอ้อย 13.40 ตัน/ไร่ clone ที่ให้ค่า ซี.ซี.เอส สูงสุด คือ 87-2-143 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.82 รองลงไปคือ 89-2-304 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.78 เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้วพบว่า clone 89-2-366 เป็น clone ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุดคือ ได้ 1.99 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 89-2-481 ได้น้ำตาล 1.98 ตัน/ไร่

การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อยเพื่อผลผลิตชุด 1990 : อ้อยปลูก

ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อ้อยที่เข้าทำการเปรียบเทียบมี 14 clone ร่วมกับพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 ผลการทดลองพบว่า ผลผลิตของอ้อยแต่ละ clone ไม่แตกต่างกัน แต่ค่า ซี.ซี.เอส. มีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 และ อู่ทอง 2 มีหลาย clone เช่น clone 90-2-329, 89-2-366, 90-2-318 ส่วน clone มีค่า ซี ซี เอส สูงสุด คือ 90-2-056 ซี.ซี.เอส. 16.93 รองลงไปคือ พันธุ์อู่ทอง 2 และ 90-2-020 มีค่า ซี.ซี.เอส. 16.53 และ 16.06 ตามลำดับ เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้ว พบว่า clone 90-2-329 เป็น clone ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุด คือ 3.34 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 89-2-366 และ 90-2-020 มีน้ำตาล 3.07 และ 2.92 ตัน/ไร่ ตามลำดับ และพบว่า clone ที่ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง ได้แก่ 90-2-010, 90-2-020 และ 90-2-029

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยเบื้องต้นเพื่อผลผลิตชุด 1990 : อ้อยตอ 1

ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และสถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท อ้อยที่เข้าทำการเปรียบเทียบมี 30 clone ร่วมกับพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 ผลการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี พบว่า ทั้งผลผลิต และ ซี.ซี.เอส. ของอ้อย มีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ 90-2-250 ให้น้ำหนักอ้อย 15.64 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 90-2-318 และ 90-2-056 ให้น้ำหนักอ้อย 15.59 และ 14.74 ตัน/ไร่ ตามลำดับ clone ที่ให้ค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุดคือ 90-2-024 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.09 รองลงไปคือ 90-2-013 และ 90-2-158 มีค่า ซี.ซี.เอส. 14.68 และ 14.61 ตามลำดับ เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้ว พบว่า clone 90-2-056 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุดคือ 2.15 ตัน/ไร่ รองลงไปคือ clone 90-2-256 มีน้ำตาล 1.90 ตัน/ไร่
ที่สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท ผลการทดลอง พบว่า ทั้งผลผลิตและค่า ซี.ซี.เอส. ของอ้อยมีความแตกต่างกันทางสถิติ clone ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ 90-2-308 ให้น้ำหนักอ้อย 19.30 ตัน/ไร่ รองลงไปได้แก่ clone 90-2-329 และ 90-2-318 ให้น้ำหนักอ้อย 17.14 และ 16.94 ตัน/ไร่ ตามลำดับ clone ที่ให้ค่า ซี.ซี.เอส. สูงสุด คือ 90-2-028 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.90 รองลงไปคือ clone 90-2-029 และ 90-2-013 มีค่า ซี.ซี.เอส. 15.89 และ 15.53 ตามลำดับ เมื่อคำนวณหาปริมาณน้ำตาลต่อไร่แล้วพบว่า clone 90-2-239 มีน้ำตาลต่อไร่สูงสุด คือ 2.56 ตัน/ไร่ รองลงไป คือ clone 90-2-308 มีน้ำตาล 2.54 ตัน/ไร่

การประเมินพันธุ์อ้อยนำเข้าจากประเทศ Cuba

ทำการทดลองปลูกอ้อยพันธุ์นำเข้าจากประเทศ Cuba 5 พันธุ์ ได้แก่ C 325-68, C 87-51, My 5514, Ja 64-19 และ Ja 60-5 เปรียบเทียบกับพันธุ์อู่ทอง 1, อู่ทอง 2 และ F 140 ในไร่กสิกร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ผลการทดลองพบว่า พันธุ์ C 325-68 และ My 5514 ให้ผลผลิตและปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูงสุด โดยให้น้ำหนักอ้อย 16.80 และ 16.20 ตัน/ไร่ ปริมาณน้ำตาล 2.29 และ 2.27 ตัน/ไร่ ตามลำดับ

การรวบรวมและศึกษาพันธุ์อ้อย : อ้อยตอ 2

ในปี 2538 ได้ทำการรวบรวมพันธุ์อ้อยไว้ 329 พันธุ์ ปลูกไว้ในรองซีเมนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการรวบรวมพันธุ์โดยไม่ต้องมีการปลูกใหม่ ผลการศึกษาพบว่า มีความจำเป็นจะต้องปลูกรวบรวมใหม่ทุกปี เนื่องจากปัญหาของโรคที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทั้งโรคแส้ดำ และกอตะไคร้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำพันธุ์ที่ปลูกไว้ไปใช้ประโยชน์ได้

งานปรับปรุงการผลิต

การตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีของอ้อย Clone ดีเด่น 3 Clone .ในดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทราย และดินนา

ปัจจุบันมีพันธุ์อ้อยอยู่หลาย clone ที่นักวิชาการด้านปรับปรุงพันธุ์ คาดว่าจะเป็นพันธุ์ที่รับรองได้ในอนาคตอันใกล้ เช่น clone 89-2-366 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะทางการเกษตรดี clone 89 SR588 และ 89 SR621 เป็น clone ที่ให้ผลผลิตสูง และต้านทานต่อโรคแส้ดำ จึงได้นำอ้อยทั้ง 3 clone มาทำการศึกษาถึงการปรับตัวในดินลักษณะต่าง ๆ และการตอบสนองของอ้อยต่อปุ๋ยเคมีในดินเหล่านั้น ในปี 2538 ได้ทำการทดลองในดินร่วนปนทรายอย่างเดียว ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับมีท่อนพันธุ์ไม่พอ การทดลองประกอบด้วยอ้อย 3 clone และมีพันธุ์อู่ทอง 2 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ มีปุ๋ยเคมีไนโตรเจน 3 ระดับ คือ O, 12 และ 24 กิโลกรัมต่อไร่ มีการใส่ปุ๋ยและไม่ใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ผลการทดลองพบว่า อ้อย clone 89-2-366 ให้ผลผลิตสูงที่สุด อ้อยไม่แสดงการตอบสนองต่อปุ๋ยในโตรเจน แต่แสดงการตอบสนองต่อฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมเล็กน้อย


การใช้ปุ๋ยพืชสดและการใช้ไถดินดานปรับปรุงดินปลูกอ้อยในภาคตะวันตก : อ้อยตอ 1

ดำเนินการทดลองในไร่กสิกร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งดินค่อนข้างเป็นดินทราย ผลการทดลอง พบว่า การปลูกโสนอาฟริกันบำรุงดินก่อนการปลูกอ้อย ไม่ทำให้ผลผลิตของอ้อยตอ 1 แตกต่างกับการไม่ปลูกโสนอาฟริกันบำรุงดินก่อนปลูก ทั้งนี้เกิดจากความดุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างต่ำ และปริมาณอินทรียวัตถุที่ได้จากปุ๋ยพืชสดจากปีแรกยังมีน้อย


การเปรียบเทียบวิธีการเขตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยในเขตชลประทานภาคตะวันตก : อ้อยตอ 1

การทดลองนี้เป็นการนำเอาวิธีการทางเขตกรรมหลาย ๆ วิธี ซึ่งเคยผ่านการทดลองมาแล้วว่ามีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อยตอ จึงได้นำวิธีการเหล่านั้นมาทำการเปรียบเทียบร่วมกัน ได้แก่ การคลุมแปลงด้วยเศษใบและยอดอ้อย การใส่ชานอ้อย การปลูกอ้อยโดยใช้ทั้งลำปลูก การจัดระยะแถวปลูก การปลูกแบบเตรียมดินน้อยครั้ง และปลูกเป็นหลุม มีการใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยในทุกวิธีการ ผลการทดลองพบว่า ทุกวิธีการให้ผลไม่แตกต่างกัน ทั้งผลผลิตอ้อย และผลผลิตน้ำตาลไม่มีความแตกต่างกัน


งานอารักขาพืช

การทดสอบปฏิกริยาของพันธุ์อ้อยต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง

ได้ทำการทดสอบปฏิกริยาของอ้อยลูกผสมชุด 1990, 1991 และ 1992 ที่มีต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โดยวิธีการปลูกเชื้อเหี่ยวเน่าแดงลงในลำอ้อยของลูกผสมจำนวน 102 ลูกผสม และมีพันธุ์อีเหี่ยว K 84-200 84-646 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ ผลการทดสอบพบว่า มี 10 ลูกผสม ที่แสดงปฏิกริยาต้านทานปานกลาง คือ 90-029, 91-527, 92-201, 91-417, 90-020, 92-106, 91-176, 91-453, 91-579 และ 92-048 ที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่แสดงปฏิกริยาค่อนข้างอ่อนแอจนถึงอ่อนแอมาก ส่วน K 84-200 และ 84-646 แสดงปฏิกริยาค่อนข้างต้านทาน และพันธุ์อีเหี่ยวแสดงปฏิกริยาอ่อนแอมาก


สรุปผลงานวิจัย

ผลจากการดำเนินการเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นต่าง ๆ และการทดสอบพันธุ์อ้อยในไร่กสิกรหลาย ๆ แห่งในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พอจะมองเห็นได้ว่า มีอ้อยหลายพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้ดี โดยเฉพาะอ้อย clone 89-2-366 สามารถให้ผลผลิตเป็นน้ำหนักอ้อยต่อไร่ และปริมาณน้ำตาลต่อไร่ได้สูงสุดเหนือกว่าพันธุ์มาตรฐานในหลายท้องที่ แต่จากงานวิจัยการทดสอบปฏิกริยาของพันธุ์อ้อยต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงพบว่า อ้อย clone นี้ไม่ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า คงจะไม่สามารถดำเนินการรับรองพันธุ์นี้ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีวิธีการควบคุมหรือป้องกันโรคนี้ให้ได้ อย่างไรก็ตามยังมีอ้อย clone เด่นอีกหลาย ๆ clone ที่นักวิจัยในโครงการเห็นว่ามีศักยภาพในการให้ผลผลิต และปริมาณน้ำตาลต่อไร่สูง จะนำไปสู่การยอมรับและรับรองพันธุ์ได้ในอนาคต ได้แก่ clone 85-2-207, 85-2-072, 88-2-471, 88-3-489 และพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศบางพันธุ์ เป็นต้น พันธุ์เหล่านี้ พบว่า มีการตอบสนองที่ต่างกันในแต่ละท้องที่ ดังนั้นในการดำเนินงานวิจัยในโครงการนี้ที่จะมีต่อไป คือ การนำพันธุ์เหล่านี้ไปปลูกทดสอบให้มากแห่งยิ่งขึ้น ในดินชนิดต่าง ๆ ทั้งในสภาพที่มีการชลประทาน และในสภาพอาศัยน้ำฝน รวมทั้งศึกษาถึงการจัดการต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อยในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากพอที่จะใช้ในการสนับสนุนการรับรองพันธุ์ และเป็นคำแนะนำในการปลูกอ้อยในแต่ละท้องถิ่น การศึกษาในเบื้องแรกนี้จะดำเนินการในเขตภาคกลางก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการในภาคอื่นต่อไป


โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]

This page hosted by Get your own Free Home Page
1