โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตอ้อยทนแล้ง
ธงชัย ตั้งเปรมศรี : ผู้ประสานงาน


ในปัจจุบันแม้ว่า ไทยจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผลผลิตอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2530 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 3.6 ล้านไร่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2539 การขยายพื้นที่ปลูกเหล่านี้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน ที่มีปริมาณต่ำกว่า 800 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอนและที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตต่อไร่อยู่ใระดับต่ำ โดยเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 8 ตันต่อไร่ เท่านั้น ทั้งนี้ สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้งของสภาพอากาศ นอกจากนี้ ปัญหาในเรื่องดินทั้งด้านคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนการแปรปรวนของฝน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จากเหตุผลดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาหาสายพันธุ์อ้อย ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงการผลิตอ้อยในสภาพดังกล่าวนี้ สำหรับผลงานวิจัยปีที่ผ่านมาพอสรุปได้ดังนี้ คือ

พืชศาสตร์

การปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อทนแล้ง งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเมื่อเยื่อทำการคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่มีแนวโน้มการทนแล้งโดยการใช้สาร Polyethylene glycol (PEG) .ในระดับ 10-25 % ใส่ลงในอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของอ้อย ทำการคัดเลือกครั้งแรกได้ 110 โคลนพันธุ์ และได้ทำการศึกษา และคัดเลือกต่ออีกหลายครั้ง จนในขณะนี้ได้โคลนพันธุ์ที่คาดว่าค่อนข้างมีความทนแล้งพอสมควรประมาณ 12 โคลนพันธ์ ซึ่งจะได้ทำการศึกษาทางด้านศักยภาพการให้ผลผลิต ทั้งในสภาพปกติและสภาพแล้ง และศึกษาคุณสมบัติทางสรีรวิทยาต่อไป

ปรับปรุงการผลิต

การเปลี่ยนแปลงลักษณะต่าง ๆ ของอ้อย 4 พันธุ์ ในสภาพขาดน้ำที่ระยะย่างปล้อง ทำการศึกษาที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โดยใช้พันธุ์อ้อย 4 พันธุ์ คือ อู่ทอง 1 อู่ทอง 2 K 84-200 และอ้อยคั้นน้ำโคลนพันธุ์ 90-1 โดยการให้อ้อยทุกพันธุ์มีการขาดน้ำที่ระยะย่างปล้อง ซึ่งเป็นระยะวิกฤติสำหรับการปลูกอ้อย ผลการทดลอง พบว่า อ้อยทุกพันธุ์เมื่อขาดน้ำที่ระยะนี้ จะเป็นผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญ และถูกกระทบมากที่สุดก็ คือ จำนวนลำที่ให้ผลผลิต โดยจำนวนลำของอ้อยทุกพันธุ์จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยที่ได้รับน้ำชลประทานอย่างสมบูรณ์ ในสภาพการขาดน้ำอ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 และ clone 90-1 แสดงความสามารถในการให้ผลผลิตได้ใกล้เคียงกัน และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 และ K84-200 ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าอ้อยที่มีความสามารถในการแตกกอดี และเจริญเติบโตรวดเร็ว เช่น พันธุ์อู่ทอง 1 และ clone 90-1 มีแนวโน้มจะให้ผลผลิตได้ดีกว่าอ้อยพันธุ์ที่เจริญเติบโตและมีการพัฒนาช้ากว่า เช่น พันธุ์อู่ทอง 2 และ K84-200

สรุปผลงานวิจัย

ได้ clone พันธุ์อ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่คาดว่าจะมีความสามารถในการทนแล้งได้ จำนวนหนึ่ง
อ้อยที่ปลูกในสภาพแห้งแล้งและขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลักษณะจำนวนลำเก็บเกี่ยวจะเป็นลักษณะที่ถูกกระทบกระเทือนมากที่สุด

แนวทางวิจัยในอนาคต

ศึกษาศักยภาพของ clone พันธุ์อ้อยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาในการทนแล้งของอ้อยจากอ้อย clone พันธุ์ต่าง ๆ ที่คัดเลือกได้
ทดสอบความเป็นไปได้ในการปลูกอ้อยพันธุ์ทนแล้งในสภาพแห้งแล้งและขาดน้ำตามธรรมชาติ

โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]

รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by Get your own Free Home Page
1