โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตอ้อยในสภาพใช้น้ำฝน

ประชา ถ้ำทอง : ผู้ประสานงาน


คาดว่าพื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศ 80 % อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณและการกระจายตัวของฝนในแต่ละปี ผลผลิตอ้อยอยู่ประมาณ 4-18 ตันต่อไร่ต่อปี การปลูกอ้อยในเขตน้ำฝนมีปัญหาหรือขีดจำกัดมากกว่าในเขตชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพันธุ์ โรค แมลง วิธีการปลูกและการบำรุงดูแลรักษา ซึ่งรวมทั้งการจัดการตั้งแต่อ้อยปลูกจนถึงอ้อยตอ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อนำแนวทางและแบบแผนหรือวิธีการปฏิบัติในการปลูกดูแลรักษาอ้อยในเขตน้ำฝนให้ยั่งยืน เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยวิธีการหรือแบบแผนนั้นคุ้มค่าต่อการลงทุนและทำให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด
การค้นคว้าวิจัยในปี 2538 ดำเนินการในเขตภาคตะวันตก และเริ่มค้นคว้าวิจัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในด้านพืชศาสตร์ และด้านปรับปรุงเพิ่มผลผลิต โดยมีการอารักขาพืชรวมดำเนินการควบคู่กันไป ในปี 2538 พอสรุปผลงานในแต่ละภาคได้ดังนี้

เขตภาคกลางตะวันตก

พืชศาสตร์

การคัดเลือกพันธุ์ อ้อยชุด 1993 จำนวน 200 Clone ใช้พันธุ์อู่ทอง 1 และF 140 เป็นพันธุ์ตรวจสอบ คัดเลือกอ้อยที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ 20 Clone เพื่อใช้เปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น
การเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น อ้อยชุด 1991 ตอ 1 91-2-213 , 91-2-081 และ 91-2-117 ให้ผลผลิตน้ำตาล ตัน ซี ซี เอส ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ตรวจสอบอู่ทอง 1 (ซึ่งให้ผลผลิตน้ำตาล 1.72 ตัน ซี ซี เอส ต่อไร่) 65.7, 64.0, 54.7 % ตามลำดับ และสูงกว่าพันธุ์ตรวจสอบ F 140 (ซึ่งให้ผลผลิตน้ำตาล 2.06 ตัน ซี ซี เอส ต่อไร่) 38.4, 36.9, 29.1 % ตามลำดับ

ปรับปรุงการผลิต

ศึกษาความลึกของการวางท่อนพันธุ์ที่มีผลต่อผลผลิตและการไว้ตออ้อย : ตอ 2 การวางท่อนพันธุ์ปลูกลึก 20-25 ซม.และ 45-50 ซม. พบว่า การวางท่อนพันธุ์ดังกล่าวไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาล ขนาดลำ จำนวนลำเก็บเกี่ยวต่อไร่ ความสูง และหลุมเก็บเกี่ยวต่อไร่ โดยเฉลี่ยในอ้อยตอ 2 แตกต่างกันทางสถิติ แต่ในด้านพันธุ์ พบว่า ในแต่ละระดับความลึกของการวางท่อนพันธุ์ปลูกแต่ละพันธุ์ที่ต่างกัน อ้อย K 84-200 หลุมเก็บเกี่ยวจากการปลูกระดับความลึก 20-25 ซม. มากกว่า ปลูกระดับ 45-50 ซม. และอ้อย อู่ทอง 2 , 85-2-207 หลุมเก็บเกี่ยวของแต่ละพันธุ์จากการปลูกระดับความลึก 45-50 ซม. มากกว่าปลูกระดับความลึก 20-25 ซม. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับอ้อย อู่ทอง 1, 85-2-352 การปลูกทั้ง 2 ระดับนี้ไม่ทำให้หลุมเก็บเกี่ยวในอ้อยตอ 2 ของแต่ละพันธุ์แตกต่างกันทางสถิติ

การใช้ชานอ้อยรวมกับการใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดินก่อนปลูกอ้อย การปล่อยพื้นที่ไว้นาน 3 เดือน แล้วเตรียมดินปลูกอ้อย เปรียบเทียบกับการใช้กากชานอ้อย 0, 4, 8 ตันต่อไร่ ร่วมกับการปลูกปุ๋ยพืชสด 3 ชนิด คือ โสนอัฟริกัน ถั่วพร้า ข้าวฟ่าง ก่อนเพื่อเตรียมดินก่อนการปลูกอ้อยในอ้อยตอ 2 พบว่า กรรมวิธีดังกล่าว ไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาลต่อไร่ รวมทั้งลักษณะทางการเกษตรอื่น ๆ จำนวนลำเก็บเกี่ยว หลุมเก็บเกี่ยว ความสูง และขนาดลำตอนเก็บเกี่ยวแตกต่างกันทางสถิติ ศักยภาพของพืชที่ใช้ทำปุ๋ยพืชสดทั้ง 3 ไม่แตกต่างกันทางสถิติ

การใช้กากชานอ้อยบำรุงดินปลูกอ้อย การใช้กากชานอ้อยอัตรา 4 ตันต่อไร่ พร้อมกับการเตรียมดินปลูกอ้อยเพียงครั้งเดียว ร่วมกับการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 150 กก.ต่อไร่ โดยเพิ่มไนโตรเจนอัตรา 0, 10, 20, 40, 60 และ 80 กก.N.ต่อไร่ ในรูป ของปุ๋ยยูเรีย ในอ้อยอู่ทอง 2 ตอ 2 แม้ว่าวิธีการร่วมดังกล่าวไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาลต่อไร่ การแตกกอ จำนวนลำต่อไร่ ขนาดลำ ความสูงของลำตอนเก็บเกี่ยวแตกต่างกันทางสถิติก็ตาม แต่การใช้ชานอ้อย อัตรา 4 ตันต่อไร่ (ตอนปลูกอ้อย) ร่วมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 150 กก.ต่อไร่ และใส่ 10 กก.N.ต่อไร่ ของปุ๋ยยูเรีย ในอ้อยตอ 2 มีผลทำให้ผลผลิตอ้อย และผลผลิตน้ำตาล ตัน ซี.ซี.เอส.ต่อไร่ มากกว่าการไม่ใช้กากชานอ้อย (ตอนปลูกอ้อย) บำรุงดินแต่มีการใส่ปุ๋ย 15-15-15 150 กก.ต่อไร่ เพียงอย่างเดียว 27.4% ในด้าน ผลผลิตอ้อย และ 27.3% ในด้านผลผลิตน้ำตาลตัน ซี.ซี.เอส.ต่อไร่

การเปรียบเทียบการใช้สารทำลายดินดาน การไถลึก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มผลผลิตของอ้อย พบว่า การไถกลบโสนอัฟริกัน และถั่วพร้า ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้น การใช้ปุ๋ยมูลไก่ สารทำลายดินดาน (Ammonium Laureth Sulfate) และหินฟอสเฟต (Rock phosfate) ไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยแต่อย่างใด (เป็นการทดลองยืนยันผลการทดลองในปี 2537)

การเพิ่มจำนวนครั้งและปริมาณปุ๋ยไนโตรเจน เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยตอ 1 ในอ้อยพันธุ์ อู่ทอง 2 ใส่ปุ๋ย 50, 100, 150, 200 กก.ต่อไร่ ของแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) โดยใส่ 1, 2, 3, 4, 5 ครั้ง พบว่า การเพิ่มจำนวนครั้งของการใส่ปุ๋ยไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำหนักอ้อยที่ใส่ปุ๋ย 1-5 ครั้ง (เฉลี่ยจาก 4 อัตรา) ไม่แตกต่างกันทางสถิติ อย่างไรก็ตามในการใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตราสูง (150-200 กก.ต่อไร่) ควรมีการแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง ในด้านคุณภาพอ้อยที่ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 0-200 กก.ต่อไร่ มีค่า ซี.ซี.เอส. ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ผลผลิตอ้อยที่ใช้แอมโมเนียมซัลเฟต 100-200 กก.ต่อไร่ ไม่แตกต่างกันทางสถิติ และมากกว่าผลผลิตที่ใช้แอมโมเนียมซัลเฟต 0 และ 50 กก.ต่อไร่ การเพิ่มอัตราการใช้ แอมโมเนียมซัลเฟต จะช่วยให้อ้อยมีจำนวนปล้องเพิ่มขึ้น

เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พืชศาสตร์

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่น ในเขตจังหวัดอุดรธานีประสบปัญหาอ้อยที่ปลูกมี %ความงอกต่ำ และที่จังหวัดเลย ความอยู่รอดของอ้อยตอ 1 น้อยมากเนื่องจากความชื้นไม่เพียงพอ

ปรับปรุงการผลิต

ศึกษาเวลาเก็บเกี่ยวที่มีต่อผลผลิตของอ้อยตอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะนี้ยังดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยปลูก และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยตอในปีถัดไป

สรุปผลของโครงการ

พืชศาสตร์

ในเขตภาคกลางตะวันตก อ้อยพัธุ์ 91-2-081, 91-2-107 และ 91-2-213 คาดว่าจะเป็นอ้อยที่มีศักยภาพ

ปรับปรุงการผลิต

เขตภาคกลางตะวันตก
การปลูกอ้อยลึก 20-25 ซม. และ 40-45 ซม. ไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย น้ำตาล ตัน ซี.ซี.เอส.ต่อไร่ ขนาดลำ และจำนวนลำเก็บเกี่ยวต่อไร่ ของอ้อยตอ 2 แตกต่างกันทางสถิติ
อ้อย K 84-200 การปลูกลึก (40-45 ซม.) ให้หลุมเก็บเกี่ยวของอ้อยตอ 2 น้อยกว่าปลูกตื้น (20-25 ซม.) อ้อยอู่ทอง 2, 85-2-207, ปลูกลึกหลุมเก็บเกี่ยวมากกว่าปลูกตื้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนพันธุ์อู่ทอง 1, 85-2-352 การปลูกลึกหรือตื้นในแต่ละพันธุ์ไม่ทำให้หลุมเก็บเกี่ยวแตกต่างกันทางสถิติ หรืออาจกล่าวว่าอ้อย K 84-200 ปลูกตื้นไว้ตอได้ดีกว่าปลูกลึก อ้อยอู่ทอง 2, 85-2-352 ปลูกลึกไว้ตอได้ดีกว่าปลูกตื้น ส่วนอ้อยอู่ทอง 1, 85-2-352 การปลูกลึกหรือตื้นไว้ตอไม่แตกต่างกัน
การใช้กากชานอ้อย 4, 8 ตันต่อไร่ ร่วมกับ โสนอัฟริกัน ถั่วพร้า ข้าวฟ่าง และปลูกปุ๋ยพืชสดเพียงอย่างเดียวก่อนเตรียมดินปลูกอ้อย ไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาล ตัน ซี.ซี.เอส.ต่อไร่ ของผลผลิตอ้อยตอ 2 แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบทางศักยภาพของปุ๋ยพืชสด 3 ชนิดดังกล่าวให้ผลไม่แตกต่างกัน
การใช้ชานอ้อย 4 ตันต่อไร่ ในอ้อยปลูก แล้วใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 150 กก.ต่อไร่ ร่วมกับ 0, 10, 20, 40, 60 และ 80 กก.Nต่อไร่ ในอ้อยตอ 2 ไม่ทำให้ผลผลิตอ้อย น้ำตาลของอ้อยอู่ทอง 2 แตกต่างกันทางสถิติ
การใช้ โสนอัฟริกัน ถั่วพร้า เป็นปุ๋ยพืชสด ทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น ปุ๋ยมูลไก่ สารทำลายดินดาน (Ammonium Laureth Sulfate) หินฟอสเฟส (Rock phosfate) ไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยแต่อย่างไร
การใส่ปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 50, 100, 150, 200 กก.ต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 1, 2, 3,4, 5 ครั้ง การแบ่งใส่ไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย แต่ถ้าปุ๋ยอัตราที่สูง (150-200 กก.ต่อไร่) ควรแบ่งใส่ดีกว่า (3-4 ครั้ง) ปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 150-200 กก.ต่อไร่ ให้ผลผลิตอ้อยไม่แตกต่างกันและให้ผลผลิตสูงกว่าอัตรา 0-50 กก.ต่อไร่ (ซึ่งให้ผลผลิตในระดับเดียวกัน) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การเพิ่มอัตราการใช้ปุ๋ย 21-0-0 จะช่วยให้อ้อยมีจำนวนปล้องเพิ่มขึ้น และไม่มีผลทำให้ค่า ซี.ซี.เอส. แตกต่างกันทางสถิติ

โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by Get your own Free Home Page
1