โครงการวิจัยและพัฒนาคุณภาพท่อนพันธุ์อ้อย
วัฒนศักดิ์ ชมภูนิช : ผู้ประสานงาน
การใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพดี ปราศจากโรคและแมลงติดมากับท่อนพันธุ์ มีอายุที่เหมาะสมสำหรับใช้ทำพันธุ์ เป็นการเพิ่มผลผลิตอ้อยวิธีหนึ่ง ดังนั้น การใช้ท่อนพันธุ์ดีในการปลูกอ้อยจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะให้ผลผลิตสูงแล้ว ยังสามารถไว้ตอได้หลายปี เป็นการลดต้นทุนการผลิตวิธีหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาคุณภาพท่อนพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใส่ปุ๋ยก่อนนำมาทำพันธุ์ หรือการตัดยอดอ้อยก่อนเพื่อเร่งความงอก และเพิ่มความแข็งแรงของท่อนพันธุ์ รวมทั้งการใช้ฮอร์โมนเร่งราก ใช้สารเคมีเพิ่มการแตกกอ นอกจากนี้ยังรวมถึงการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยน้ำร้อน หรือสารเคมี เพื่อป้องกันโรคอ้อย ซึ่งระบาดไปกับท่อนพันธุ์ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2538-2541 โดยมีเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการคือ
ได้ท่อนพันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพดี ปราศจากโรคและแมลงติดมากับท่อนพันธุ์
ได้ท่อนพันธุ์อ้อยที่มีการงอก และการเจริญเติบโตของหน่ออ้อยดีขึ้น
ช่วยให้อ้อยไว้ตอได้นานขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิต
ผลงานวิจัยในปี 2538 สรุปได้ดังนี้คือ
วิทยาการเมล็ดพันธุ์
การใส่ปุ๋ยอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มคุณภาพท่อนพันธุ์ ทำการใส่ปุ๋ยเมื่ออ้อยมีอายุได้ 7 เดือน โดยทำการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 0, 50 และ 100 กิโลกรัม/ไร่ ในรูปของแอมโมเนียมซัลเฟต โดยทำการทดลองในอ้อย 4 พันธุ์ คือ อู่ทอง 2, F 140, 80-1-128 และ Q 83 ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยก่อนตัดอ้อยจะเพิ่มความงอกของท่อนพันธุ์และความแข็งแรงของต้นกล้า นอกจากนี้ยังพบว่า มีความแตกต่างระหว่างพันธุ์ในเรื่องของความงอก และความแข็งแรงของต้นกล้า
การใช้สารเคมีควบคุมโรคเหี่ยวเน่าแดงในอ้อยบางพันธุ์ สรุปได้ว่า สารเคมีช่วยระงับการเกิดโรคได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าท่อนพันธุ์มีเชื้อแฝงอยู่มาก เชื้อที่เหลืออยู่ก็จะเจริญเติบโตต่อไป
ผลของวิธีการชุบท่อนพันธุ์อ้อยที่มีต่อความงอก การเจริญเติบโตและการไว้ตอของอ้อย 3 พันธุ์ การศึกษาวิธีชุบท่อนพันธุ์แบบทั้งลำ และแบบท่อน ที่มีต่อความงอก การเจริญเติบโตและการไว้ตอของอ้อย 3 พันธุ์ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี 2537 วางแผนการทดลองแบบ split plot โดยมี main plot อ้อย 3 พันธุ์ได้แก่ อู่ทอง 1, F 140 และอู่ทอง 2 sub plot คือ วิธีการชุบท่อนพันธุ์อ้อยทั้งลำและแบบท่อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการไม่ชุบท่อนพันธุ์ ผลการทดลองในอ้อยปลูก พบว่า จำนวนลำ และผลผลิตไม่มีความแตกต่างทางสถิติ แต่ในอ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 พบการระบาดของกอตะไคร้รุนแรงในการไม่ชุบท่อนพันธุ์ สำหรับผลการทดลองในอ้อยตอ 1 พบว่า มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่งในน้ำหนักผลผลิต โดยอ้อยพันธุ์อู่ทอง 1 ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดในทุกกรรมวิธี (19.63 ตัน/ไร่) ในขณะที่พันธุ์ F 140 และอู่ทอง 2 ให้ผลผลิต 15.95 และ 16.17 ตัน/ไร่ ตามลำดับ ในขณะที่การไม่ชุบท่อนพันธุ์อ้อยให้ผลผลิต 15.46 ตัน/ไร่ การชุบท่อนพันธุ์ทั้งลำและชุบแบบท่อนให้ผลผลิต 18.40 และ 17.88 ตัน/ไร่ ตามลำดับ เนื่องจากการไม่ชุบท่อนพันธุ์มีการสะสมโรค โดยเฉพาะอาการกอตะไคร้ซึ่งจะเกิดมากในอ้อยตอ โดยเฉพาะพันธุ์อู่ทอง 1 ซึ่งมีอาการกอตะไคร้ในการไม่ชุบท่อนพันธุ์, ชุบลำ และชุบท่อน 13.32, 2.16 และ 0 % ในอ้อยปลูกและในอ้อยตอพบอาการกอตะไคร้ 40.74, 3.71 และ 3.21 % ในการไม่ชุบ, ชุบลำ และชุบท่อน ตามลำดับ
ผลของการตัดยอดอ้อยเวลาต่าง ๆ ที่มีต่อความงอกก่อนการทำพันธุ์ สรุปได้ว่า การตัดยอดอ้อยก่อนการทำพันธุ์ ไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์ความงอก แต่ทำให้อ้อยงอกได้เร็วขึ้น
ผลของฮอร์โมนที่มีต่อรากและการเจริญเติบโตของอ้อย สรุปได้ว่า : การใช้ฮอร์โมนไม่ให้ผลเด่นชัดในการเพิ่มผลผลิตอ้อย
การใช้ ethephon เพิ่มการแตกกออ้อย สรุปได้ว่า : การชุบ ethephon ทุกอัตราไม่สามารถเพิ่มการแตกกอของอ้อยได้
การปลูกอ้อยทั้งลำแบบไม่ลอกกาบใบ การปลูกอ้อยทั้งลำแบบไม่ลอกกาบใบ ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ปี 2538 ในอ้อยพันธุ์อู่ทอง 2 และ K 84-200 วางแผนการทดลองแบบ 3x2 Factorial in RCB มี 4 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 เป็นการปลูกอ้อยทั้งลำแบบลอกกาบใบ, ไม่ลอกกาบใบ และวิธีปกติ (2 ท่อน 2 ตา) ปัจจัยที่ 2 เป็นพันธุ์อ้อย 2 พันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 2 และ K 84-200 ทำการปลูกอ้อยในเดือน พฤษภาคม 2538 และเก็บเกี่ยวอ้อยในเดือนมีนาคม 2539 ผลการทดลองพบว่า ความงอกของทั้ง 3 กรรมวิธี มีความแตกต่างทางสถิติ โดยการลอกกาบใบให้เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงสุด (94.9 %) ในขณะที่ไม่ลอกกาบใบ และวิธีปกติ มีความงอก 90.6 และ 86.2 % ตามลำดับ จำนวนลำ/ไร่ ของทั้ง 3 กรรมวิธี ก็แตกต่างกันทางสถิติเช่นกัน โดยกรรมวิธีปกติ (2 ท่อน/2 ตา) ได้จำนวนลำน้อยที่สุด (9,526 ลำ/ไร่) แตกต่างจากการปลูกทั้งลำ ทั้ง 2 กรรมวิธี ซึ่งให้จำนวนลำต่อไร่ 11,846 และ 12,455 ลำ/ไร่ ในการปลูกแบบทั้งลำไม่ลอกกาบใบ และลอกกาบใบ ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับผลผลิตอ้อยซึ่งแตกต่างกันทางสถิติ โดยการปลูกอ้อยตามปกติให้น้ำหนัก 17.21 ตัน/ไร่ แตกต่างจากการปลูกแบบไม่ลอกกาบใบ และลอกกาบใบ ซึ่งให้ผลผลิต 20.28 และ 20.44 ตัน/ไร่ ตามลำดับ และมีความแตกต่างระหว่างพันธุ์ โดยพันธุ์ K 84-200 ให้ผลผลิตเฉลี่ยทั้ง 3 กรรมวิธี 20.98 ตัน/ไร่ ในขณะที่พันธุ์อู่ทอง 2 ให้ผลผลิต 17.65 ตัน/ไร่
สรุปผลงานวิจัย
การใส่ปุ๋ยอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ทำให้ท่อนพันธุ์แข็งแรงและงอกดีขึ้น
การใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค และการควบคุมคุณภาพท่อนพันธุ์โดยใช้สารเคมีช่วยลดปัญหาโรคเหี่ยวเน่าแดงได้
การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสนาน 2 ชั่วโมง มีแนวโน้มว่าช่วยลดปัญหาการเกิดโรคกอตะไคร้ในอ้อยพันธุ์อู่ทอง 1
การปลูกอ้อยทั้งลำแบบไม่ลอกกาบใบจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกของอ้อยลดลง
การใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค และการควบคุมคุณภาพท่อนพันธุ์โดยใช้สารเคมี ช่วยลดปัญหาโรคได้
โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย
[HOME]
[ศูนย์วิจัยฯ]
[การไว้ตอฯ]
[สภาพท้องถิ่น]
[โรคแส้ดำ]
[คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน]
[สภาพดินเค็ม]
[อ้อยทนแล้ง]
[คุณภาพท่อนพันธุ์]
[อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง
[โรคราที่เมล็ด]
[การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น
[พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by
Get your own Free Home Page