ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี
บทบาทและหน้าที่ STRONG>
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการดังนี้
วิจัยค้นคว้า ทดลองและทดสอบเพื่อเพิ่มผลผลิตปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และแก้ปัญหาในการผลิตพืชไร่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแก้ปัญหาในการผลิตพืชไร่ที่สำคัญ ทางเศรษฐกิจในท้องที่ของพื้นที่ รับผิดชอบศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โดยดำเนินการวิจัยตามแผนงานที่สถาบันวิจัยพืชไร่ได้กำหนดไว้ ประสานงานและดำเนินการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ต่าง ๆ
วิจัย ค้นคว้า ทดลองและทดสอบพืชไร่ที่เป็นพืชกำหนดที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ แบบสหสาขาวิชาอย่างเชื่อมโยงต่อเนื่องและเป็นระบบ ทั้งด้านวิจัยและด้านพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทำงานวิจัยทั้งด้านพื้นฐาน ด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับใช้ ตลอดจนการประเมินผลทางเศรษฐกิจ และสังคม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกร ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการของพืชไร่ ที่เป็นพืชกำหนดที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ
ประสานงาน และดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์คัด พันธุ์หลักและพันธุ์ดีของพืชไร่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
ให้ความร่วมมือและดำเนินงานภายใต้โครงการพิเศษ โครงการพัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบ
ข้อมูลทั่วไปของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี
ที่ตั้ง @
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 ชื่อเดิมคือ สถานีกสิกรรมอู่ทอง เปลี่ยนมาเป็นสถานีทดลองพืชไร่อู่ทอง และศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่หน้าเขาวงพาทย์ หมู่ 10 ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บนเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 ห่างจากตัวอำเภออู่ทองไปทางทิศตะวันตก 10 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีมาทางทิศใต้ 40 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีมาทางทิศเหนือ 50 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครมาทางทิศตะวันตก 130 กิโลเมตร
สภาพพื้นที่ @
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ 14 องศา 18 ลิบดาเหนือ เส้นแวงที่ 99 องศา 52 ลิบดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 30 เมตร สภาพพื้นที่ตั้งศูนย์ฯ และแปลงรางโพธิ์ เป็นพื้นที่ราบและเป็นที่ลุ่มบางส่วนของพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ราบดังกล่าวได้รับผลกระทบจากระดับน้ำใต้ดินของคลองชลประทานก่อให้เกิดปัญหาดินเค็มประมาณ 20 ไร่เศษ
ลักษณะดิน @
บริเวณที่ตั้งศูนย์เป็นดินชุดนครปฐม และสระบุรี ส่วนแปลงรางโพธิ์และที่เช่าจากเกษตรกรเป็นดินชุดกำแพงแสน และมีคุณสมบัติของดินดังนี้
ความเป็นกรดเป็นด่าง | 6.5-6.7 |
อินทรียวัตถ | 1.20-2.27% |
ฟอสฟอรัส | 12-155 ppm |
โปตัสเซียม | 142-332 ppm |
แคลเซียม | 1,330-3,900 ppm |
แมกนีเซียม | 140-425 ppm |
สภาพภูมิอากาศ @
เป็นพื้นที่จัดอยู่ในเขตค่อนข้างแห้งแล้งของประเทศ คือ มีฝนเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2526-2536 มีปริมาณ 1,162.19 มิลลิเมตร โดยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ มีปริมาณฝนสูงสุดในเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม ในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะมีฝนตกน้อยและมักจะทิ้งช่วงนาน
พื้นที่ @
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี มีพื้นที่ทำการวิจัยอยู่ 3 แปลง คือ
แปลงที่ 1 มีเนื้อที่ 117 ไร่ เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน บ้านพัก และแปลงทดลองบางส่วน
แปลงที่ 2 มีเนื้อที่ 251 ไร่ ห่างจากที่ตั้งศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีไปทางทิศใต้ 5 กิโลเมตร ใช้เป็นพื้นที่แปลงทดลอง
แปลงที่ 3 มีเนื้อที่ 109 ไร่ ห่างจากพื้นที่ตั้งศูนย์วิจัยพืชไร่ไปทางทิศตะวันตก 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เช่าจากเกษตรกรหมู่บ้านจรเข้สามพัน ใช้เป็นที่แปลงทดลองและขยายพันธุ์
พื้นที่รับผิดชอบ @
พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ครอบคลุมอาณาบริเวณจังหวัดในเขตภาคตะวันตก 8 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
สภาพภูมิประเทศภาคตะวันตก
เป็นภาคที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด ประกอบไปด้วยเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกของภาค บริเวณขอบเขตที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นแนวยาวจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาถึงจังหวัดเพชรบุรี และที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก สภาพดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
บริเวณที่ราบลุ่ม มีสภาพเป็นที่ราบเรียบจนถึงพื้นที่มีความลาด ภูเขาสูง บริเวณที่ราบลุ่ม ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี มีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นและจะค่อย ๆ ลาดลงไปสู่พื้นที่ราบลุ่มกรุงเทพฯ หรือดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณที่สูงและเทือกเขาสูง ได้แก่ พื้นที่ทางทิศตะวันตกมีจังหวัดกาญจนบุรี และบางส่วนของจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี บางส่วนเป็นเทือกเขากั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ความสูงระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,400 เมตร บริเวณเทือกเขาสูงเหล่านี้จะมีลำน้ำไหลผ่านเกิดเป็นที่ราบลุ่มขึ้น แต่จะเป็นที่ลุ่มขนาดแคบ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรี
บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก จะอยู่ตอนใต้ของภาค ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ราบแนวแคบ ๆ และยาวตลอดไปจนถึงสภาพที่เป็นลูกคลื่น จนถึงสภาพพื้นที่ที่เป็นเนินเขาเตี้ยๆ
แหล่งน้ำ @
แหล่งน้ำที่สำคัญและมีผลต่อกิจกรรมทางการเกษตรของภาคตะวันตกประกอบด้วย
แม่น้ำ เช่น แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี
บึง และหนองน้ำธรรมชาติ มีกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำดังกล่าวไหลผ่าน
แหล่งน้ำพัฒนา คือ การดำเนินงานของกรมชลประทาน เช่น เขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนเขาแหลม เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
การเกษตร @
บริเวณที่ราบลุ่ม ส่วนใหญ่จะทำนา บริเวณที่ราบและเนินเขาทำการปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ฝ้าย ถั่วต่าง ๆ ไม้ผล ทุ่งหญ้า และปลูกป่าไม้ บริเวณชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน และทำนากุ้ง
ปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัว @
พื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ ในปี 2539 มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,000-1,200 มิลลิเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ การกระจายตัวของฝนมี 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนมิถุนายน ช่วงที่ 2 ปลายเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน โดยมีฝนมากที่สุดในเดือนกันยายน ฝนปี 2539 หมดช้า ส่งผลทำให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบช้า มีอ้อยเข้าหีบในช่วงต้นฤดูหีบน้อย เพราะว่ารถบรรทุกอ้อยเข้าไร่ไม่ได้ อีกทั้งคุณภาพความหวานในช่วงต้นฤดูหีบต่ำ
เฉพาะที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ปริมาณฝนเฉลี่ยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา (2519-2538) มีความแปรปรวนสูง คือ มีปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปีตั้งแต่ 635-1,586 มิลลิเมตร ในช่วงปี 2535-2537 มีปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 635-825 มิลลิเมตร แต่ในปี 2538 มีปริมาณฝน 1,139 มิลลิเมตร เป็นปีที่ประเทศไทยสามารถผลิตอ้อยและน้ำตาล ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย และในปี 2539 มีปริมาณน้ำฝน 1,086 มิลลิเมตร เป็นปีที่ฝนมาค่อนข้างเร็ว (ต้นเดือนเมษายน) และฝนหมดค่อนข้างช้า (ต้นเดือนพฤศจิกายน) เกิดฝนทิ้งช่วง (rain spell) และมีฝนตกน้อยในเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม ส่วนเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีฝนตกมากที่สุด คือ มีปริมาณน้ำฝน 297.1 มิลลิเมตร
โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย
[HOME]
[ศูนย์วิจัยฯ]
[การไว้ตอฯ]
[สภาพท้องถิ่น]
[โรคแส้ดำ]
[คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน]
[สภาพดินเค็ม]
[อ้อยทนแล้ง]
[คุณภาพท่อนพันธุ์]
[อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง
[โรคราที่เมล็ด]
[การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น
[พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชี่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by
Get your own Free Home Page