โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวฟ่าง
เสรีวัฒน์ จัตตุพรพงษ์ : ผู้ประสานงาน
ข้าวฟ่างเป็นพืชที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตเมล็ดได้สูงกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ผลผลิตเฉลี่ยของข้าวฟ่างในปัจจุบันค่อนข้างต่ำประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เป็นเพราะกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวฟ่างอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ เกษตรกรเลือกปลูกข้าวฟ่าง ในกรณีที่ปลูกพืชชนิดอื่นแล้วไม่ให้ผลผลิต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์และวิธีการที่เหมาะสมต่อการผลิตในสภาพที่ดินมีความชื้นน้อย และพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย จากการศึกษาพบว่า ในสภาพที่ดินมีความชื้นน้อย หรือมีช่วงฝนในฤดูปลูกสั้นนั้น ผลผลิตมีความสัมพันธ์ทางลบกับอายุวันดอกบาน แต่ในสภาพแวดล้อมปกติผลผลิตจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอายุวันดอกบาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างที่มีอายุวันดอกบานสั้น สำหรับปลูกในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นน้อย การพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างนั้น มีทั้งเมล็ดสีแดงและสีขาวเพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดและเกษตรกร
การดำเนินงานวิจัยในปี พ.ศ. 2539 เป็นการดำเนินงานด้านพืชศาสตร์ทั้งหมดซึ่งมีผลดังนี้
การคัดเลือกข้าวฟ่างเมล็ดสีขาวแบบช่อต่อแถว การปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างเมล็ดสีขาว โดยการคัดเลือกแบบช่อต่อแถวชั่วที่ 3 ของข้าวฟ่างที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ที่มีเมล็ดสีขาวแบบพันธุ์เฮกการีหนัก คือ พันธุ์เฮกการีหนัก Naga White และเฮกการีเบากับพันธุ์เมล็ดสีเหลือง ต้นเตี้ย ผลการคัดเลือกเมื่อพิจารณาด้วยสายตา สามารถเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างได้ 477 สายพันธุ์ จาก 8 คู่ผสม สายพันธุ์เหล่านี้ มีอายุดอกบานระหว่าง 45 ถึง 55 วัน น้ำหนักเมล็ดต่อช่อระหว่าง 23-135 กรัม น้ำหนัก 1000 เมล็ด ระหว่าง 17-37 กรัม เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักเมล็ดต่อช่อกับองค์ประกอบผลผลิตของสายพันธุ์ข้าวฟ่างที่เก็บคัดเลือกได้ พบว่า น้ำหนักเมล็ดต่อช่อมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความกว้างช่อ เส้นผ่าศูนย์กลางก้านช่อ เปอร์เซ็นต์การนวด น้ำหนัก 1000 เมล็ด และอายุวันดอกบาน โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.575**, 0.505**, 0.470**, 0.354** และ 0.140* ตามลำดับ แต่มี สหสัมพันธ์ทางลบกับความยาวก้านช่อ (Head exertion) โดยมีสัมประสิทธิ์สหสมพันธ์เท่ากับ -0.333**
การรวบรวมพันธุ์และศึกษาพันธุ์ข้าวฟ่างและธัญพืชเมล็ดเล็ก การปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างเมล็ดสีแดงได้ดำเนินงานคัดเลือก และประเมินผลผลิตถึงขั้นตอนเปรียบเทียบมาตรฐาน จึงมีการคัดเลือกและรักษาสายพันธุ์บริสุทธิ์ ในปี พ.ศ. 2539 เป็นการคัดเลือกและขยายสายพันธ์บริสุทธิ์ข้าวฟ่างเมล็ดสีแดง จำนวน 45 สายพันธุ์ ได้เก็บเมล็ดแต่ละสายพันธุ์ไว้ประมาณ 4-79 ช่อ นอกจากนี้ยังได้ทำการสร้างพันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมจากสายพันธุ์แม่ ICSA 17, ICSA 88005 และ ICSA 56 ได้จำนวน 11 คู่ผสม
การเปรียบเทียบมาตรฐานข้าวฟ่างเมล็ดสีแดง การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ข้าวฟ่างเมล็ดสีแดง ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท สถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ และสถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง ผลการทดลองจาก 4 แปลงทดลองพบว่า สายพันธุ์ UT1067 B ให้ผลผลิตสูงสุดและแตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 60 ที่สถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท และศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และแตกต่างจากพันธุ์เฮกการรีหนักที่สถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง และแตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี เพราะสายพันธุ์ UT1067 B มีอายุวันดอกบานยาวนานกว่าพันธุ์เปรียบเทียบทั้ง 3 พันธุ์ แต่มีความสูงต้นสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 60 เพียงพันธุ์เดียว ผลผลิตเฉลี่ยจาก 4 แปลงทดลอง ปรากฎว่า สายพันธุ์ UT1067 B ให้ผลผลิตสูงสุดเท่ากับ 813 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 (727 กิโลกรัมต่อไร่) ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ UT 1257 B และ UT 331 B เป็นสายพันธุ์ที่มีอายุวันดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกับสุพรรณบุรี 1 แต่มีความสูงต้นน้อยกว่าให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ประมาณ 13-16 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีผลผลิตต่ออายุดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ความสัมพันธ์ของผลผลิตเมล็ดกับองค์ประกอบผลผลิตพบว่า ผลผลิตเมล็ดมีสหสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์การนวดในทุกการทดลอง ยกเว้น ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ส่วนน้ำหนักเมล็ดต่อช่อ จะมีสหสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนช่อเก็บเกี่ยวในทุกการทดลอง และมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับเปอร์เซ็นต์การนวดในทุกการทดลองเช่นกัน แต่มีขนาดสหสัมพันธ์แตกต่างกันในแต่ละการทดลอง คือ มีค่าสัมประสิทธิ์สูงสุดที่สถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง เท่ากับ 0.331**
การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมทางการค้า ปรากฎว่า พันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมให้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า แต่ไม่แตกต่างไม่จากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ในทุกการทดลอง ยกเว้น ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี มีพันธุ์ PAC 99 และช่อแดง 111 ที่ให้ผลผลิตมากแตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ผลผลิตเฉลี่ยจากแปลงทดลอง 4 แห่ง พบว่า พันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมทุกพันธุ์ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบสุพรรณบุรี 1 ตั้งแต่ 2 ถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้น พันธุ์ PAC 37005 ที่ให้ผลผลิตต่ำกว่าประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะพันธุ์นี้มีจำนวนต้นและช่อเก็บเกี่ยวค่อนข้างต่ำ
สรุปผลของโครงการ
การคักเลือกพันธุ์แบบช่อต่อแถวชั่วที่ 3 พบว่า ผลผลิตเมล็ดมี สหสัมพันธ์ทางบวกกับความกว้างช่อ เส้นผ่าศูนย์กลางก้านช่อ เปอร์เซ็นต์การนวด น้ำหนัก 100 เมล็ด และอายุวันดอกบาน แต่มีสหสัมพันธ์ทางลบกับความยาวก้านช่อ (Head exertion)
ข้าวฟ่างสายพันธุ์ UT1067B ให้ผลผลิตเฉลี่ยจาก 4 แปลงทดลองสูงสุด เท่ากับ 813 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตสูงสุดในแปลงทดลอง 3 แห่งด้วย
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวฟ่างเพื่อใช้ทั้งต้นสดและเมล็ดเป็นอาหารสัตว์
เสรีวัฒน์ จัตตุพรพงษ์ : ผู้ประสานงาน
ข้าวฟ่างเป็นพืชที่สามารถใช้ต้นเป็นอาหารหยาบของสัตว์ทดแทนหญ้าอาหารสัตว์ได้ แต่พันธุ์ข้าวฟ่างที่ใช้ต้นเป็นอาหารสัตว์โดยตรงจะมีช่อค่อนข้างเล็ก ทำให้มีผลผลิตเมล็ดน้อยตามไปด้วย จึงมีปัญหาเช่นเดียวกับหญ้าอาหารสัตว์ ที่ไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ให้ได้เพียงพอ เป็นสาเหตุให้ขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ นอกจากนี้เมล็ดข้าวฟ่างบางส่วนยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างและวิธีการดูแลรักษาที่ให้ผลผลิตต้นมากและเหมาะสมสำหรับเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตเมล็ดมากพอสำหรับการขยายพันธุ์และเลี้ยงสัตว์
จากการดำเนินงานในระยะแรกได้รับรองพันธุ์ข้าวฟ่างพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ที่มีผลผลิตต้นสด ตามฤดูการปลูกต่าง ๆ ประมาณ 4-8 ตันต่อไร่ นอกจากนี้ยังพบว่า การตัดต้นข้าวฟ่างพันธุ์สุพรรณบุรี 1 เมื่ออายุ 75 วัน จะให้ผลผลิตสูงสุดและมีการงอกของตอข้าวฟ่างสูงสุดด้วย
การเปรียบเทียบเบื้องต้นสายพันธุ์ข้าวฟ่างเพื่อใช้ทั้งต้นสดและเมล็ดเป็นอาหารสัตว์ ในปี พ.ศ. 2539 มีการเปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์ข้าวฟ่าง 22 สายพันธุ์ ที่วางแผนแบบ RCB จำนวน 3 ซ้ำ เพื่อศึกษาผลผลิตต้นสดและเมล็ด พบว่า มีสายพันธุ์ข้าวฟ่างที่ให้ผลผลิตเมล็ดมากว่า แต่ไม่แตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 จำนวน 8 สายพันธุ์ เพราะสายพันธุ์เหล่านี้มีจำนวนช่อเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกับพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ยกเว้น สายพันธุ์ UT 94 D 106-3 สายพันธุ์เหล่านี้มีเพียง 2 สายพันธุ์ ที่มีผลผลิตต้นสดหลังเก็บเมล็ดเฉลี่ยมากกว่า แต่ไม่แตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 คือ UT 94 LR 1258-5 และ ICSV 15 เมื่อพิจารณาต้นสดหลังเก็บเกี่ยวเมล็ด พบว่า มี 3 สายพันธุ์ที่มีผลผลิตมากแตกต่างจากสุพรรณบุรี 1 คือ ICSV 93046, A 2267-2 และ SPLB 94022 มีผลผลิตเท่ากับ 6.81, 6.74 และ 5.41 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ทั้ง 3 สายพันธุ์ จะมีความสูงต้น และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากแตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 แต่สายพันธุ์ A 2267-2 เพียงสายพันธุ์เดียวที่มีผลผลิตเมล็ดไม่แตกต่างจากพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ส่วนการงอกของตอนั้น ไม่มีสายพันธุ์ใดที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกมากกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ผลผลิตต้นสดจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสูงต้น ค่าบริกซ์ อายุวันดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนใบสดต่อต้น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.785** , 0.577** , 0.503** และ0.318** ตามลำดับ ผลผลิตเมล็ดจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนช่อเก็บเกี่ยว และเปอร์เซ็นต์การงอกของตอมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.782** และ 0.447** ตามลำดับ แต่มีความสัมพันธ์ทางลบกับความสูงต้น และอายุวันดอกบาน มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ -0.496** และ -0.487** ตามลำดับ
สรุปผลของโครงการ