โครงการวิจัยและพัฒนาอ้อยคั้นน้ำและอ้อยเคี้ยว
วันทนา ตั้งเปรมศรี : ผู้ประสานงาน


อ้อยคั้นน้ำเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำอ้อยมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดเวลา อุตสาหกรรมอ้อยคั้นน้ำจึงเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังทวีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน
ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรมักปลูกอ้อยพันธุ์สิงคโปร์หรืออ้อยเหลืองเพื่อใช้ในการคั้นน้ำ เนื่องจากเป็นอ้อยที่มีสีน้ำอ้อยสวยและรสชาติดี แต่พันธุ์นี้เริ่มอ่อนแอต่อโรคโดยเฉพาะโรคลำต้นเน่าแดง ทำให้ผลผลิตต่ำลง รวมทั้งคุณภาพน้ำอ้อยก็ไม่ดีตามไปด้วย นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโรคลำต้นเน่าแดงทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากการปลูกอ้อยพันธุ์สิงคโปร์ซ้ำที่เดิมติดต่อกันเป็นเวลานานนับสิบปี โดยไม่มีการปลูกพืชอื่นเพื่อตัดวงจรของโรคนี้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการพัฒนาการปลูกอ้อยคั้นน้ำและอ้อยเคี้ยว ทางศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีจึงได้มีโครงการวิจัยและพัฒนาอ้อยคั้นน้ำและอ้อยเคี้ยว โดยได้ทำการศึกษาหาพันธุ์ใหม่ทดแทนพันธุ์สิงคโปร์ ตลอดจนศึกษาวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ เพื่อแนะนำให้แก่เกษตรกรต่อไป

ผลงานวิจัยที่ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2539 ปรากฏว่า โครงการนี้ประสพผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยสามารถคัดเลือกได้อ้อยคั้นน้ำ clone 90-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีเด่นกว่าพันธุ์สิงคโปร์หลายประการ และได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 โดยคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร มีมติให้ใช้ชื่อว่า “อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ สุพรรณบุรี 50” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี
สำหรับงานวิจัยอ้อยในปีที่ผ่านมาพอจะสรุปตามสาขาวิชาต่าง ๆ ได้ดังนี้ คือ

พืชศาสตร์

การเปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ ชุด 1994 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 2 ซ้ำ โดยปลูกอ้อยคั้นน้ำ 16 โคลนพันธุ์ มีพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และพันธุ์สิงคโปร์เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ปลูกอ้อยพันธุ์ละ 4 แถว ๆ ยาว 8 เมตร ระยะปลูก 1.30x0.50 เมตร ปลูกหลุมละ 1 ท่อน ๆ ละ 3 ตา ผลการทดลองพบว่า อ้อยคั้นน้ำโคลน 94-2 ให้ผลผลิตน้ำอ้อยต่อไร่สูงที่สุด 5,900 ลิตร โดยมีค่าความหวาน 17.3 บริกซ์ ส่วนพันธุ์สิงคโปร์ให้ผลผลิตน้ำอ้อยต่อไร่ต่ำสุด 3,485 ลิตร และมีค่าความหวาน 14.1 บริกซ์

การเปรียบเทียบพันธุ์อ้อยคั้นน้ำในท้องถิ่น : อ้อยตอ 1 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี จำนวน 2 แปลง ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และแปลงทดลองที่รางโพธิ์ ทำการเก็บเกี่ยวอ้อยปลูกตัดแต่งอ้อยดูแลรักษาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แปลงทดลองเดียว คือ ในศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ผลการทดลองพบว่าอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ยต่อไร่สูงสุด 3,961 ลิตร โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 16.9 สำหรับอ้อยตอ 1 ที่แปลงทดลองที่รางโพธิ์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจึงเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้

การทดสอบพันธุ์อ้อยคั้นน้ำในไร่กสิกร ดำเนินการทดลองในไร่กสิกรจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และเลย รวม 3 แปลง โดยทำการปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และพันธุ์สิงคโปร์ พันธุ์ละ 1 ไร่ ปลูกและดูแลรักษาแบบกสิกรปฏิบัติ ผลการทดลองพบว่า อ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 4,884 ลิตรต่อไร่ โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 16.7 บริกซ์ ในขณะที่พันธุ์สิงคโปร์ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 1,703 ลิตรต่อไร่ และมีค่าความหวาน 14.8 บริกซ์

การทดสอบพันธุ์อ้อยคั้นน้ำในไร่กสิกร : อ้อยตอ 1 ดำเนินการทดลองในไร่กสิกร จังหวัดอยุธยา ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี และชัยนาท รวม 8 แปลง โดยทำการตัดแต่งอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยปลูกและดูแลรักษาแบบกสิกรปฏิบัติ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 7 แปลง เนื่องจากแปลงทดลองที่ชัยนาทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ผลการทดลองพบว่า อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,693 ลิตรต่อไร่ ขณะที่พันธุ์สิงคโปร์ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 946 ลิตรต่อไร่

การรวบรวมและศึกษาพันธุ์อ้อยเคี้ยว ปลูกอ้อยเคี้ยวที่ได้รวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี รวม 20 โคลนพันธุ์ เนื่องจากเกิดสภาพน้ำท่วมอย่างมาก ทำให้อ้อยเคี้ยวที่ได้รวบรวมไว้ได้รับความเสียหายเหลือเพียง 3 โคลนพันธุ์ จึงได้ทำการผสมเปิดอ้อยเคี้ยว 3 โคลนพันธุ์ และทำการเพาะเมล็ดอ้อยเคี้ยวได้ลูกผสมจำนวน 700 โคลนพันธุ์ เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเคี้ยวต่อไป

ปรับปรุงการผลิต

ระยะเวลาหลังการตัดที่มีผลต่อคุณภาพอ้อยคั้นน้ำ Clone 90-1 การศึกษาระยะเวลาหลังการตัดที่มีผลต่อคุณภาพน้ำอ้อย ได้ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยทำการศึกษาระยะเวลาในการเก็บรักษาอ้อยไว้หลังการตัด ผลการทดลองพบว่า สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยไว้ในที่ร่มได้ประมาณ 14 วันหลังการตัด โดยคุณภาพน้ำอ้อยยังคงใกล้เคียงกับอ้อยที่ตัดสด แต่ผลผลิตน้ำอ้อยที่ได้จะลดลงจากเดิมประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ การเก็บอ้อยไว้นานกว่านี้นอกจากจะทำให้ปริมาณน้ำอ้อยทีได้ลดลงมากขึ้นแล้ว ยังทำให้น้ำอ้อยที่ได้มีคุณภาพต่ำ โดยจะมีสีคล้ำและขุ่นมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อ้อยที่ตัดไว้นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ในการหีบเพื่อทำน้ำอ้อยมาใช้ในการบริโภคสด

การปลูกอ้อยคั้นน้ำในสภาพดินนา (อ้อยตอ 1) การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในอ้อยตอ 1 ในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เนื่องจากปัญหาการเกิดอุทกภัยในปี 2538 ทำให้แปลงทดลองถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงไม่สามารถเก็บข้อมูลและสรุปผลการทดลองได้ อย่างไร่ก็ดี จากผลการทดลองในอ้อยปลูกพบว่า อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ 90-1 สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินนาที่ทำการทดลอง โดยสามารถให้ผลผลิตและคุณภาพน้ำอ้อยได้ดีเช่นเดียวกับในสภาพดินไร่

จำนวนลำต่อกอที่เหมาะสมของอ้อยคั้นน้ำ clone 90-1 ในสภาพดินนา การทดลองนี้ได้ทำการศึกษาในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อ.สรรพยา จ.ชัยนาท แต่เนื่องจากปัญหาการเกิดอุทกภัยในปี 2538 เป็นผลให้อ้อยทั้งแปลงถูกน้ำท่วมเสียหายจึงไม่สามารถเก็บข้อมูลและสรุปผลการทดลองได้

อัตราปุ๋ยที่เหมาะสมต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อยคั้นน้ำ clone 90-1 ดำเนินการทดลองที่สถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มผลผลิตอ้อยคั้นน้ำโคลนพันธุ์ 90-1 ผลการทดลองพบว่า การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียวในอัตรา 12 กก.ต่อไร่ ให้ผลผลิตอ้อยได้สูงที่สุด และไม่แตกต่างทางสถิติ จากการใช้ปุ๋ยในอัตราอื่น ๆ ที่ทำการทดลอง การใช้ปุ๋ยในทุกอัตราช่วยให้อ้อยมีผลผลิตสูงกว่าการไม่ใส่ปุ๋ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การใช้ปุ๋ยไม่มีผลต่อคุณภาพความหวาน (Brix) แต่อย่างใด อ้อยทุกกรรมวิธีให้ค่า Brix ใกล้เคียงกัน

อารักขาพืช

การเปรียบเทียบการทำลายของหนอนกออ้อยใน clone อ้อยคั้นน้ำ การศึกษาการเปรียบเทียบการทำลายของหนอนกออ้อยในอ้อยคั้นน้ำ โดยการตรวจนับยอดเหี่ยว (dead heart) ในระยะหน่อของอ้อยลูกผสมกอพันธุ์ต่าง ๆ กับพันธุ์มาตรฐานทำการตรวจนับตั้งแต่อ้อยอายุ 2-5 เดือน ๆ ละครั้ง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ปี 2538 พบกอพันธุ์อ้อยลูกผสมที่มีระดับการทำลายของหนอนกออ้อยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐาน (อู่ทอง 2) คือ กอพันธุ์ 90-1, 91-009, 91-077 และ 91-220

วิทยาการเมล็ดพันธุ์

การใช้สารเร่งเพื่อกระตุ้นความงอกของอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สิงคโปร์ ผลจากการใช้สารเร่งการเจริญเติบโต การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนคลุมท่อนพันธุ์ไว้ด้วยกระสอบป่าน แช่น้ำ และตัดท่อนพันธุ์แล้วปลูกทันที เมื่อตรวจสอบความงอกของท่อนพันธุ์ที่อายุ 15 วันหลังปลูก พบว่า ทุกวิธีการมีความงอกไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยมีความงอกเฉลี่ย 54.7 % และมีแนวโน้มว่า การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียสนาน 30 นาที จะช่วยให้อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ สิงคโปร์งอกเร็วกว่าวิธีการอื่น ๆ โดยมีความงอกเฉลี่ย 79 % และการใช้สารเร่งการเจริญเติบโต (IAA) ในวิธีการที่ 1 นั้น อ้อยจะงอกช้าที่สุด ซึ่งมีความงอกเฉลี่ย 39.4 % จากนั้นทิ้งไว้อีก 2 สัปดาห์ คือ ที่อายุ 30 วันหลังปลูกตรวจสอบความงอกใหม่อีกครั้ง พบว่า ทุกวิธีการความงอกจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ โดยมีวิธีการที่ 5 คือ การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียสนาน 30 นาที มีความงอกดีที่สุดเฉลี่ย 83.5 % สูงกว่าวิธีตรวจสอบวิธีที่ 7 คือแช่น้ำนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีความงอกเฉลี่ย 53 % ฉะนั้น จะมีความงอกสูงกว่าประมาณ 36.5 % แต่วิธีการที่ 5 นี้ จะมีความงอกใกล้เคียงกับวิธีการตรวจสอบในวิธีที่ 8 คือ ตัดท่อนพันธุ์แล้วปลูกทันที ซึ่งมีความงอกเฉลี่ย 72.4 % และเปอร์เซ็นต์ความงอกจะต่ำสุดในวิธีการที่ 1 คือ การใช้สารเร่งการเจริญเติบโต IAA ซึ่งมีความงอกเฉลี่ย 45.1 % และเมื่อตรวจสอบความสูงของต้นอ่อนในระยะ 30 วันหลักปลูก ก็พบว่า วิธีการที่ 5 ให้ความสูงของต้นอ่อนสูงกว่าวิธีตรวจสอบในวิธีที่ 7 ซึ่งมีความสูงเฉลี่ย 14.0 และ 11.0 ซม. ตามลำดับ หรือสูงกว่าประมาณ 21 % แต่ความสูงของต้นอ่อนในวิธีการที่ 5 นี้ จะสูงใกล้เคียงกับวิธีตรวจสอบในวิธีการที่ 8 ซึ่งมีความสูงเฉลี่ย 12.6 ซม. และเมื่อผ่านพ้นระยะ 30 วันไปแล้ว พบว่าความสูงของต้นอ่อนไม่แตกต่างกันทางสถิติ


สรุปผลของโครงการ

อ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยคั้นน้ำที่มีศักยภาพดีกว่าพันธุ์สิงคโปร์
การตัดอ้อยทิ้งไว้ก่อนการหีบน้ำอ้อยไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ เพราะจะทำให้คุณภาพน้ำอ้อยต่ำลง
การปลูกอ้อยในสภาพดินนาภาคกลางมีความเป็นไปได้แต่ระวังปัญหา เรื่องน้ำท่วมแปลงปลูก
ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตรา 12 กก.ต่อไร่
การทำลายของหนอนกออ้อยต่ออ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับพันธุ์มาตรฐาน(อู่ทอง 2)
การปรับปรุงพันธุ์อ้อยเคี้ยวกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน

โครงการวิจัยในอนาคต

หลังจากได้พันธุ์สุพรรณบุรี 50 แล้ว ทางโครงการฯ กำลังดำเนินงานรวบรวมพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์อ้อยคั้นน้ำและอ้อยเคี้ยว ชุดใหม่ เพื่อปรับปรุงให้มีผลผลิตและคุณภาพดีขึ้น อีกทั้งเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ทันเวลากับการปรับตัวของโรคและแมลงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้อีกในอนาคต


โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชื่อข้าราชการศูนย์
This page hosted by Get your own Free Home Page
1