โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชท้องถิ่น

นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต : ผู้ประสานงาน


พื้นที่ปลูกพืชไร่เขตตะวันตก ที่อยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีนั้น นอกจากอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และเป็นพืชกำหนดที่ศูนย์ฯ จะต้องดำเนินงานวิจัยและพัฒนาแล้ว เกษตรกรยังทำการปลูกพืชไร่ชนิดอื่นกระจายกันไปในแต่ละท้องที่ ที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ปลูกมากในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ถั่วเหลือง และฝ้ายปลูกมากในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ดังนั้นงานวิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นเพื่อเป็นการเตรียมรับ หรือแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ท้องถิ่น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามท้องที่และเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในเรื่องพันธุ์พืชและวิธีการเขตกรรมที่เหมาะสม รวมทั้ง การอารักขาพืช จึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่นขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชไร่ ตลอดจนวิธีการปลูก การดูแลรักษาพืชไร่เศรษฐกิจต่าง ๆ อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีเริ่มตั้งแต่ 2539-2541 โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาพันธุ์พืชและวิธีการเขตกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีการอารักขาโดยเฉพาะในฝ้าย

ผลงานที่ผ่านมาในอดีตพอสรุปเป็นคำแนะนำโดยแยกให้เห็นได้ดังนี้

พันธุ์พืชไร่ที่เหมาะสม

ข้าวโพดฝักอ่อน
พันธุ์เชียงใหม่ 90 ให้ผลผลิตก่อนและหลังปอกเปลือกสูงที่สุด ซึ่งให้ผลเหมือนกันทั้ง 2 ปี
ถั่วเหลือง
พันธ์ มข.35 (KKU 1001) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเมล็ดดีที่สุดเมื่อปลูกปลายฤดูฝน ซึ่งให้ผลเหมือนกันทั้ง 2 ปี
ถั่วเหลืองฝักสด
ไม่พบความแตกต่างระหว่างพันธุ์ที่ใช้ทดสอบ - พันธุ์ AGS 292 หรือ TVB # 7 เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่ในปัจจุบัน และเป็นพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากโรงงานผู้ผลิต frozen pod


วิธีการปลูกและการดูแลรักษา

ถั่วเหลือง
ระยะปลูกที่เหมาะสมของถั่วเหลืองพันธุ์ นครสวรรค์ 1 และพันธุ์ สจ.5 ในดินชุดกำแพงแสน คือ 50 x 20 ซม. 4 ต้นต่อหลุม
ถั่วเหลืองฝักสด
ในการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์ TVB # 1 ควรปลูกแบบยกร่องและใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กก./ไร่
ถั่วลิสง
การใช้ EM (Effective Micro organism) ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตของถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 60-2
ข้าวโพด
การปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูงในเขตตะวันตก ควรปลูกในระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พันธุ์ลูกผสมมีศักยภาพในการให้ผลผลิตที่ดีกว่าพันธุ์ผสมเปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลูกก่อนหรือหลังเดือนดังกล่าว

การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

ฝ้าย
จากผลงานทดลอง 2 ปี สรุปได้ว่า การจับหนอน 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้สารเคมีให้ผลดีกว่าการใช้สารเคมีอย่างเดียว ช่วงที่เหมาะในการจับตั้งแต่ฝ้ายอายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมีช่วงห่างในการจับแต่ละครั้ง 3 สัปดาห์
การใช้สารสกัดสะเดาที่อัตราต่าง ๆ (60 ppm และ 80 ppm) และที่ใช้ร่วมกับสารเพิ่มประสิทธิภาพ มีความสามารถควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายได้ดีเท่ากับการใช้สารเคมี ยกเว้น สารสกัดสะเดาที่อัตราต่ำ (40 ppm)
การใช้ไวรัส NPV สูตรสำเร็จ สามารถควบคุมหนอนเจาะสมออเมริกันได้ดีเท่ากับสารเคมี, สารสกัดสะเดา และควบคุมได้ดีกว่าการใช้ Bt ทุกสายพันธุ์
การปลูกข้าวฟ่างล้อมรอบฝ้าย เพื่อลดหนอนเจาะสมอที่ลงทำลายฝ้าย ไม่ทำให้ผลผลิตฝ้ายดีกว่าการปลูกฝ้ายตามปกติ และพ่นสารเคมี แต่การปลูกข้าวฟ่างล้อมรอบฝ้าย โดยมีพื้นที่ข้าวฟ่าง ฝ้าย เท่ากับ 1 : 22 จะทำให้เกษตรกรมีกำไรสุทธิสูงใกล้เคียงกับการปลูกฝ้ายอย่างเดียว

ผลงานวิจัยที่ดำเนินการในปี 2539

การเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นในถั่วเหลือง 4 ประชากร

ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีความสำคัญพืชหนึ่งในเขตตะวันตก และจากความต้องการที่จะเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ทำให้มองเห็นว่า ในเขตตะวันตกน่าจะเป็นแหล่งหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตได้ การใช้พันธุ์ปลูกที่เหมาะสมจึงควรได้รับการพิจารณา เพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองให้เหมาะสมในเขตตะวันตก จึงได้นำประชากรถั่วเหลือง ซึ่งอยู่ในชั่วที่ 4 (F 4) จากศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ จำนวนทั้งหมด 4 ประชากร คือ CM 9238, CM 9207, CM 9203 และ CM 9206 มาปลูกและคัดเลือกในดินชุดกำแพงแสน ภายในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ในแต่ละประชากรทำการคัดเลือกดังต่อไปนี้คือ ปี พ.ศ. 2537 ต้นฤดูฝนปลูกและเก็บเมล็ดรวม (Bulk Seeds) ในชั่วที่ 5 (F 5) ปี พ.ศ. 2537 ปลายฤดูฝนปลูกและคัดเลือกแบบ Single plant selection ในชั่วที่ 6 (F 6) และปี พ.ศ. 2538 ต้นฤดูฝนปลูกและคัดเลือกแบบ Family selection ในชั่วที่ 7 (F 7) ข้อมูลที่รวบรวมได้จาก Single plant selection โดยเฉพาะในลักษณะของน้ำหนักเมล็ดต่อต้น เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ย และ Standard Deviation (SD) พบว่า CM 9238 มีค่าเฉลี่ย และ SD สูงกว่าประชากรอื่น ๆ ขณะที่ CM 9206 มีค่าเฉลี่ย และ SD ต่ำสุด (ตาราง) ชี้ให้เห็นว่า ประชากร CM 9238 น่าจะเป็นประชากรที่มีศักยภาพและมีโอกาสมากกว่าประชากรอื่น ๆ ที่จะคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีผลผลิตสูง ซึ่งจากผลการคัดเลือกแบบ Family selection ยืนยันให้เห็นว่า สายพันธุ์ที่คัดเลือกได้ใน 10 อันดับแรกของประชากร CM 9238 มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักเมล็ดที่ปรับค่าแล้วอยู่ในช่วง 368-543 กรัมต่อ 2.5 ตารางเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่สูงกว่า 10 อันดับแรก และประชากรอื่น ๆ ส่วนอีก 2 ประชากร คือ CM 9207 และ CM 9203 ก็ยังมีศักยภาพที่น่าสนใจ นอกจากนี้ จากการศึกษาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างลักษณะที่บันทึกในการคัดเลือกแบบ Single plant selection พบว่า จำนวนข้อต่อต้น มีค่าสหสัมพันธ์ในทางบวกกับลักษณะจำนวนฝักต่อต้น และน้ำหนักเมล็ดต่อต้นมีค่าสหสัมพันธ์ในทางบวกอย่างสูงกับลักษณะจำนวนเมล็ดต่อต้น ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้ง 4 ประชากร

ผลของวันปลูกที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพดในเขตภาคตะวันตก

จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2538 พบว่า การปลูกข้าวโพดในเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม จะให้ผลผลิตได้สูงที่สุด โดยเฉพาะข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิดเมื่อปลูกในช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม ก็สามารถให้ผลผลิตได้ดีใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสม เพื่อเป็นการยืนยันผลการทดลอง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2539 จึงได้ทำการทดลองซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยดำเนินงานทดลอง 2 แปลงคือ ที่แปลงทดลองศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และที่โครงการห้วยองคต อันเนื่องจากพระราชดำริ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ทำการเปรียบเทียบการปลูกข้าวโพดในเดือนต่าง ๆ คือ ตั้งแต่ พฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคม โดยใช้พันธุ์ข้าวโพด 2 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ผสมเปิด 1 พันธุ์ คือ นครสวรรค์ 1 และพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอีก 1 พันธุ์ ผลการทดลองพบว่า ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี การปลูกข้าวโพดในเดือนมิถุนายน ให้ผลผลิตได้ดีที่สุด เฉลี่ย 820 กิโลกรัมต่อไร่ โดยข้าวโพดลูกผสมจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิดเล็กน้อย สำหรับที่โครงการห้วยองคต ผลการทดลองพบว่า การปลูกข้าวโพดในเดือนกรกฎาคม จะให้ผลผลิตได้สูงที่สุด เฉลี่ย 1,210 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพันธุ์ลูกผสมจะให้ผลผลิตได้สูงกว่า (1,284 กก./ไร่) พันธุ์ผสมเปิด (989 กก./ไร่)

การเปรียบเทียบพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อบริโภคสดในท้องที่

การเปรียบเทียบพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อบริโภคสดในท้องที่ เพื่อทราบข้อมูลในการให้ผลผลิตและการตอบสนองของถั่วลิสง 6 พันธุ์ ดำเนินงานทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี มี 4 ซ้ำ ปลูกถั่วลิสง 6 พันธุ์ ได้แก่ ขอนแก่น 60-1, ขอนแก่น 60-2, ขอนแก่น 60-4, KKU 90303, KKU 90308 และ สข.38 ผลการทดลองพบพันธุ์ KKU 90308 ให้ผลผลิตฝักสดสูงสุด 1,053 กิโลกรัมต่อไร่ ลำดับรองลงมาได้แก่ พันธุ์ ขอนแก่น 60-2 ซึ่งให้ผลผลิตฝักสด 941 กิโลกรัมต่อไร่

สรุปผลงานวิจัย

สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ถั่วเหลืองจากทั้ง 4 ประชากรที่ศึกษาได้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้เปรียบเทียบพันธุ์ในปีต่อไป
ผลการทดลองทั้งสองปี สรุปผลได้ว่า การปลูกข้าวโพดในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ควรปลูกในเดือน มิถุนายน ส่วนการปลูกในเขตอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ควรปลูกในเดือน กรกฎาคม และการใช้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจะมีศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ดีกว่าการใช้พันธุ์ผสมเปิด
ถั่วลิสงพันธุ์ KKU 90308 และขอนแก่น 60-2 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง เมื่อปลูกในเขตตะวันตก

แนวทางที่จะดำเนินงานในปี 2540

เนื่องจากเกิดความผันผวนในแนวนโยบาย ในการดำเนินงานวิจัย ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวนโยบายนั้น โครงการวิจัยนี้จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ในปี 2540 ได้จัดทำโครงการใหม่ เพื่อให้กระชับและตรงประเด็นมากขึ้น อีก 2 โครงการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าวโพดที่เป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญของเขตนี้ คือ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดเทียน และโครงการทดสอบพันธุ์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดไร่ เขตจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี คาดว่าผลที่ได้รับจะสามารถพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรได้ดีขึ้น เมื่อสิ้นสุดโครงการทั้งสอง
โปรดส่งคำถามและคำแนะนำ
อ้อย [HOME] [ศูนย์วิจัยฯ] [การไว้ตอฯ] [สภาพท้องถิ่น] [โรคแส้ดำ] [คุณภาพความหวาน]
[สภาพน้ำฝน] [สภาพดินเค็ม] [อ้อยทนแล้ง] [คุณภาพท่อนพันธุ์] [อ้อยคั้นน้ำฯ]
ข้าวฟ่าง [โรคราที่เมล็ด] [การผลิตข้าวฟ่าง]
พืชไร่ท้องถิ่น [พืชไร่ในท้องถิ่น]
รายชื่อข้าราชการศูนย์ฯ
This page hosted by Get your own Free Home Page
1